คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทัวร์เกี่ยวข้าวที่อยุธยา 3-5 พ.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Tuesday October 24, 2000 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
นายทรงกลด บางยี่ขัน ผู้ประสานงานศูนย์เศรษฐศาสตร์นิเวศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 3 - 5 พฤศจิกายนนี้ ศูนย์เศรษฐศาสตร์นิเวศฯ จะจัดโครงการ “ปลายฝนกับต้นข้าว” นำผู้สนใจไปเกี่ยวข้าวและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมข้าวที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่หมู่บ้านสาคลี ตำบลสามตุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งที่มีเรื่องราว และประเพณีเกี่ยวกับข้าวมากมาย แม้ปัจจุบันวิธีการทำนาจะเปลี่ยนไปแต่ยังคงหลงเหลือสิ่งที่ดีงามในหลายเรื่อง และถึงแม้บางเรื่องจะไม่ทำแล้ว แต่ก็ยินดีกลับมาร่วมรื้อฟื้นประกอบพิธีกรรมเหล่านั้นใหม่
“หมู่บ้านนี้มีการรวบรวมเกี่ยวกับภูมิปัญญาข้าวและวัฒนธรรมต่าง ๆ เรื่องข้าวอยู่แล้ว และคน ในหมู่บ้านก็ร่วมมือกัน ครูอาจารย์ในโรงเรียนก็ให้การสนับสนุน การเดินทางครั้งนี้ก็อยากให้ผู้เข้าร่วมเดินทาง เป็นเหมือนนักเดินทางเล็ก ๆ เดินทางอย่างนอบน้อม ไปเรียนรู้การทำนาและวัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่ใช่ไปแค่ เกี่ยวข้าว เอาสนุก เขาเห็นดีเห็นงามด้วย ก็เลยร่วมนำอุปกรณ์เก่า ๆ มาให้ดู และร่วมเชิญคนเก่าแก่มาประกอบพิธีต่าง ๆ อยากให้เกิดภาพเหมือนแต่ก่อนที่มีการลงแขกเกี่ยวข้าว เจ้าภาพจะเชิญคนในหมู่บ้านมาช่วยกันเกี่ยว และเลี้ยงอาหาร พูดคุย ร้องรำทำเพลง และครั้งนี้ถึงแม้เราจะเป็นแขกไป แต่จะเรียนเชิญผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และชาวบ้านในหมู่บ้านมาลงแขกเกี่ยวข้าว เลี้ยงอาหารชาวบ้าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าการทำนาแต่ก่อนเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นบรรยากาศเก่า ๆ ถ้าเกิดคนในเมืองได้มีโอกาสสัมผัสตรงนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี” นายทรงกลด กล่าว
นายทรงกลด กล่าวว่า สำหรับการเดินทางครั้งนี้กำหนดผู้ร่วมเดินทางไว้ที่จำนวน 30 คน ซึ่งผู้ร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเกี่ยวข้าวด้วยเคียว การเต้นรำกำเคียวในนาข้าว การร้องเพลงเกี่ยวข้าว เมื่อเกี่ยวเสร็จแล้ว จะมีพิธีเชิญขวัญข้าวเข้าสู่ลาน นวดข้าวด้วยการฟาดฟ่อนข้าวกับพื้นเพื่อให้ข้าวหลุดจากรวง เมื่อเมล็ดข้าวหลุดจากรวงเป็นเมล็ดข้าวสารแล้ว นำไปคัดเม็ดที่ลีบออกโดยการใช้วิธีสีฝัดพอได้เมล็ดข้าวเปลือกที่สมบูรณ์ก็นำไปตำข้าวด้วยครกตำข้าว สุดท้ายก็นำข้าวนั้นมาหุงรับประทานเป็นอาหารเย็น ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า ผู้ร่วมเดินทางจะต้องเป็นผู้สนใจจริง ๆ เนื่องจากต้องพักในโรงเรียนและห้องเรียนเป็นพื้นไม้ ปูเสื่อนอน การรับประทานอาหารก็เหมือนกับชาวบ้านที่รับประทาน--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ