กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
แนวโน้มของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น (credit spread) และการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทในประเทศไทยที่ทยอยเกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นประเด็นสำคัญที่วิทยากรได้กล่าวถึงในการสัมมนาครึ่งปีของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อแนวโน้มอันดับเครดิตของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ที่กรุงเทพฯ
วิทยากรรับเชิญ ดร. วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด บรรยายภาพรวมของภาวะตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศและในประเทศไทย และกล่าวเตือนบริษัทที่ออกหุ้นกู้และนักลงทุนว่า "การที่วัฎจักรเครดิต (credit cycle) อยู่ในช่วงที่เข้มงวดเรื่องคุณภาพเครดิตมากขึ้น น่าจะทำให้ส่วนต่างระหว่างคุณภาพเครดิตที่ต่างกัน (credit spread) กว้างขึ้น ซึ่งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ควรมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต"
คุณเลิศชัย กอเจริญรัตนกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงสัญญาณเตือน สำหรับการติดตามอันดับเครดิต ซึ่งสัญญาณเตือนดังกล่าวอาจเกิดจากการดำเนินงานและสถานะการเงินของบริษัทเอง หรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ เช่น การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ และการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนขนาดใหญ่จากการกู้ยืม แม้ฟิทช์คาดว่าธุรกิจโทรคมนาคมของไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการเติบโตของรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราส่วนกำไรที่ลดลง และการลงทุนที่อยู่ในระดับสูง แต่ฟิทช์มองว่าสภาวะการดำเนินงานของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2560 เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีการปรับเพิ่มขึ้น สถานะทางการเงินของบริษัทที่ฟิทช์มีการจัดอันดับยังคงมีความแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินของบางบริษัทจะปรับตัวลดลงช้ากว่าที่คาดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ในหัวข้อสุดท้ายของการสัมมนา ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย วิทยากรรับเชิญอีกหนึ่งท่านได้กล่าวถึงแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยและมุมมองในด้านบรรษัทภิบาลและวัฒนธรรมในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต "ธนาคารพาณิชย์ไทยและบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีมาตรฐานในด้านบรรษัทภิบาลที่ดีขึ้น ในขณะที่บริษัทในภาคธุรกิจอื่นยังคงมีมาตรฐานบรรษัทภิบาลอีกหลายด้านที่ควรปรับปรุง"
คุณวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเปิดงาน โดยมีผู้บริหารจากภาคเอกชน ภาคธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทจัดการกองทุน และหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ กว่า 100 ท่าน เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ ทั้งนี้การสัมมนาได้จัดขึ้นในช่วงครบรอบ 20 ปีของวิกฤติการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี 2540 และเกือบ 10 ปีหลังจากการเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2551
ฟิทช์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign- and Local Currency Issuer Default Ratings (IDR)) ของประเทศไทยที่ 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560