กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการปรับกระจกรถ และจับพวงมาลัยอย่างถูกวิธี โดยปรับกระจกมองข้างให้อยู่ในแนวตั้งฉาก ขนานกับตัวรถและพื้นถนน มองเห็นด้านข้างตัวรถเล็กน้อย ปรับกระจกมองหลังให้อยู่ในระดับที่สายตาของผู้ขับขี่สามารถมองเห็นเส้นทางด้านหลังได้ชัดเจน ปรับตำแหน่งพวงมาลัยให้พอดี ไม่สูงหรือต่ำมากเกินไป ใช้มือขวาจับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และมือซ้ายที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ไม่ควรจับพวงมาลัยมือเดียว เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถหักหลบสิ่งกีดขวางได้ทันท่วงที ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การปรับกระจก และ จับพวงมาลัยอย่างถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ขับขี่มีทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางชัดเจน สามารถบังคับและควบคุมรถได้อย่าง มีประสิทธิภาพ จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการปรับกระจก และจับพวงมาลัยอย่างถูกวิธี ดังนี้ การปรับกระจก ปรับกระจกมองข้าง ให้อยู่ในแนวตั้งฉาก ขนานกับตัวรถและพื้นถนน มองเห็นด้านข้างตัวรถเล็กน้อย จะทำให้มีทัศนวิสัย ในการมองเห็นกว้างขึ้น สามารถมองเห็นรถที่อยู่ด้านข้าง และด้านหลังได้อย่างชัดเจน จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการ เปลี่ยนช่องทาง และขับแซงรถ ปรับกระจกมองหลัง ให้อยู่ในระดับที่สายตาผู้ขับขี่สามารถมองเห็นเส้นทางด้านหลังได้ชัดเจน ไม่ควรปรับให้มองเห็นศีรษะของผู้ขับขี่ เพราะจะบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง การปรับกระจกในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดจุดบอด ส่งผลให้มองไม่เห็นรถที่อยู่ด้านหลัง และด้านข้างในระยะที่ปลอดภัย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเปลี่ยนช่องทาง หรือแซงรถ ที่สำคัญ ไม่ควรปรับกระจกในขณะที่ขับรถ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การจับ พวงมาลัย ปรับตำแหน่งพวงมาลัยให้พอดี ไม่สูงหรือต่ำมากเกินไป โดยสังเกตจากตำแหน่งที่นั่งขณะขับรถ ต้องมองเห็นเส้นทาง และแผงหน้าปัดรถได้อย่างชัดเจน รวมถึงสามารถบังคับพวงมาลัยได้ถนัด จับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้องโดยใช้มือขวา จับพวงมาลัยในตำแหน่ง 3 นาฬิกา และมือซ้ายที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา มือทั้งสองข้างอยู่บริเวณกึ่งกลางของพวงมาลัยในแนวเส้นตรง เพื่อให้สามารถบังคับพวงมาลัยได้อย่างคล่องตัว และควบคุมทิศทางได้อย่างแม่นยำ รวมถึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุถุงลมนิรภัย จะสามารถรองรับร่างกายส่วนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรง และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ ที่สำคัญ ไม่ควรจับพวงมาลัยในตำแหน่ง 2 นาฬิกา และ 10 นาฬิกา เพราะหากประสบอุบัติเหตุแขนทั้งสองข้างจะสบัดเฉียงขึ้น จึงกีดขวางการทำงานของถุงลมนิรภัย และการจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้องด้วยมือทั้งสองข้าง โดยกำให้แน่นพอประมาณ ไม่หลวมเกินไป พร้อมใช้นิ้วโป้งเกี่ยวพวงมาลัย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับพวงมาลัย รวมถึงไม่ควรจับพวงมาลัยมือเดียว เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถหักหลบสิ่งกีดขวางได้ทันท่วงที ทั้งนี้ การปรับกระจกรถ การจับพวงมาลัยในตำแหน่ง ที่ถูกต้องและเหมาะสม นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับรถแล้ว ยังช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต กรณีประสบอุบัติเหตุ