กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--มทร.ธัญบุรี
นักศึกษาชันปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี วิจัยปัญหาพิเศษการยืดอายุของมะนาวและกล้วยน้ำว้า ประกอบด้วย นาย เกรียงไกร ดาวแสงเพชร และ นางสาว วนิดา กันหนองฮะ ทำการวิจัยผลของสารเคลือบอัลจิเนตและอุณหภูมิการเก็บรักษาต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของมะนาว โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ลิจันทร์พร นักวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นที่ปรึกษาปัญหาพิเศษดังกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ลิจันทร์พร เล่าว่า ในการยืดอายุของผลไม้ทำได้โดยการควบคุมกระบวนการเปลี่ยนแปลงผลผลิตที่นำไปสู่ความเสื่อมสลาย โดยการควบคุมอัตราการหายใจของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด สามารถทำให้ยืดอายุได้นาน ด้วยการจัดการปัจจัยภายนอกให้เหมาะสม การยืดอายุผลไม้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเก็บรักษาในห้องเย็น การเก็บรักษาโดยการควบคุมสภาพของบรรยากาศและการใช้สารเคลือบผิวโดยเฉพาะการใช้สารเคลือบผิวอัลจิเนตหรืออัลจินซึ่งเป็นสารที่สกัดได้จากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ไม่เป็นอันตรายและใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เช่น น้ำสลัด เบียร์ เคลือบผิวเนื้อปลา แช่แข็ง โดยได้ให้โจทย์นักศึกษาเพื่อทำการศึกษาผลของสารเคลือบผิวอัจจิเนตต่อคุณภาพและปริมาณคลอโรฟิลล์ของกล้วยน้ำว้าระหว่างการเก็บรักษา เพื่อเป็นแนวทางในการยืดอายุของผลกล้วยน้ำว้าให้สามารถวางขายในท้องตลาดได้นานขึ้น และ ศึกษาผลของสารเคลือบอัลจิเนตและอุณหภูมิการเก็บรักษา ต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมี ของมะนาวมาปรับปรุงคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษา เพื่อเป็นแนวทางการยืดอายุผลิตผลมะนาว การเก็บรักษาไว้ในลักษณะ ผลสดเคลือบสารอัลจิเนตทำให้สามารถ เก็บผลผลิตไว้ใช้นอกฤดูกาลได้
เจ้าของผลงานการวิจัยผลของสารเคลือบอัลจิเนตและอุณหภูมิการเก็บรักษาต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของมะนาวนาย เกรียงไกร ดาวแสงเพชร และ นางสาว วนิดา กันหนองฮะ เล่าว่า มะนาวเป็นผลไม้ที่ปลูกทั่วไปทุกภาคของประเทศไทยและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทย ใช้ในการประกอบอาหาร มีความต้องการในตลาดสูง และมีราคาแพงในช่วง ฤดูแล้งราคาสูงมาก อาจเป็น 10 เท่าของราคาในฤดู มะนาวจัดเป็นไม้ผลที่มีอัตราการหายใจการสังเคราะห์เอทิลีนต่ำ ทำให้มะนาวมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น สีเปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลืองและน้ำตาลภายใน 2สัปดาห์ที่อุณหภูมิห้อง เพื่อเป็นแนวทางการยืดอายุผลิตผลมะนาว การเก็บรักษา จึงได้ทำการศึกษาผลของสารเคลือบอัลจิเนตและอุณหภูมิการเก็บรักษาต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของมะนาว
จากการวิจัยโดยการเคลือบผลมะนาวด้วยอัลจิเนตที่ความเข้มข้นร้อยละ 0 1 2 3 และ 4 มีอายุการเก็บรักษา10 วัน ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และ 35 วัน ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส โดยการเคลือบผิวมะนาวด้วยสารอัลจิเนตโดยสามารถชะลอการสูญเสียน้าหนักได้มากกว่ามะนาวที่ไม่เคลือบผิวและการเคลือบผิวมะนาวด้วยอัลจิเนตร้อยละ 4 ลดการสูญเสียน้ำหนัก มีค่าความแข็งมากกว่าชุดการทดลองอื่นๆ เมื่อเก็บที่ 4 องศาเซลเซียสสามารถชะลอการสูญเสียน้ำหนักได้มากกว่ามะนาวที่ไม่เคลือบผิว โดยเฉพาะมะนาวที่เคลือบ ผิวด้วยอัลจิเนตร้อยละ 4 สามารถลดการสูญเสียน้ำหนักโดยมีอายุการเก็บรักษาเท่ากับ 35 วัน จากการวิเคราะห์ผลของการเคลือบผิวอัลจิเนตในมะนาว สามารถช่วยรักษาคุณภาพของมะนาวไว้ได้ จะช่วยรักษาคุณภาพของผลมะนาวไว้ได้นานยิ่งขึ้น งานวิจัยในครั้งนี้ใช้อัลจิเนตความเข้มข้นสูงสุดที่ร้อยละ 4 ซึ่งข้อมูลการวิเคราะห์จะเห็นได้ว่ามะนาวยังคงคุณภาพไว้ได้ในระดับหนึ่งดังนั้นหากเพิ่มความเข้มข้นของอัลจิเนต จะช่วยรักษาคุณภาพของผลมะนาวไว้ได้นานให้มากขึ้น
เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยในการศึกษาปัญหาพิเศษที่สามารถนำมาใช้ในการยืดอายุและเก็บรักษามะนาว เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องการเก็บรักษาผลผลิต หรือเกษตรกร ผู้ขายมะนาวขายผลผลิตได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลการเน่าเสียของผลผลิต