กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี 2556 พบ คนไทยมีปัญหาจากการใช้สุรา ถึงร้อยละ 18 หรือประมาณ 9.3 ล้านคน และล่าสุด ปี 2558 มีผู้ป่วยโรคติดสุราที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลต่างๆ เท่ากับ ร้อยละ 6.9 ของจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชทั้งหมด 168,153 คน หรือประมาณ 10,000 กว่าคน ซึ่งผลกระทบจากการดื่มสุรา มีทั้งทำให้สมองเสื่อม ความดันโลหิตสูง เลือดออกในสมอง เกิดความวิตกกังวลสูง ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย มีปัญหาการทำงาน การทะเลาะวิวาท และเกิดคดีความ ฯลฯ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยติดสุราจะมีอาการอย่างน้อย 3 อาการ ตามเกณฑ์ ดังนี้ 1) ดื่มมากกว่าที่ตั้งใจไว้ 2) ไม่สามารถหยุดหรือเลิกการดื่มสุราบ่อยครั้ง 3) มีอาการทนต่อสุรามากขึ้น เช่น ต้องดื่มมากกว่าเดิมอย่างมากจึงจะรู้สึกเช่นเดิม 4) มีอาการถอนเหล้า เช่น มือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ เวลาที่ลดการดื่มลง 5) ยังคงใช้สุรา แม้รู้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาทางกาย หรือทางจิตใจ 6) เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการดื่ม การซื้อ การคิดถึงการดื่มสุรา การเมา หรือการฟื้นจากฤทธิ์สุรา และ 7) ใช้เวลาลดลงกับการทำกิจกรรมที่สำคัญเพราะมัวแต่ใช้เวลาไปกับการดื่มเหล้าสำหรับการบำบัดรักษา จะประกอบด้วย การคัดกรองและบำบัดระยะสั้น ด้วยการให้คำแนะนำ/ปรึกษาเบื้องต้น การบำบัดอาการถอนพิษ การฟื้นฟูสภาพด้วยยาและ จิตสังคมบำบัด และการติดตามหลังการรักษาเมื่อกลับสู่ชุมชน
ทั้งนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะ 5 เทคนิค สร้างพลังใจ เพื่อเลิกสุรา ได้แก่ 1.มีความรู้สึกดีและภาคภูมิใจในตนเอง ใคร่ครวญถึงการได้ทำหน้าที่และการงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา ตลอดจนการประสบความสำเร็จในชีวิตด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือทั้งในระดับบุคคลและสังคม ค้นหาข้อดีของตัวเอง ได้ทำงาน หรือร่วมกิจกรรมทางสังคมต่างๆ 2. มีใครสักคน หรือสักกลุ่มที่เชื่อมั่นได้ว่า รักและจริงใจต่อกันจริงๆ ซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัวสายเครือญาติ เพื่อน เพื่อนบ้าน ผู้ร่วมงาน ซึ่งจะเป็น "แรงบันดาลใจ" ช่วยให้เลิกดื่มสุราได้ 3.มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตทั้งเฉพาะกิจ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวว่าจะทำอะไร เพื่อใครและทำอย่างไร เช่น เพื่อพ่อแม่ เพื่อลูก เพื่อคู่รัก เพื่อพระเจ้า เพื่อพระพุทธเจ้า เพื่อสร้างตำนานให้ตนเอง เพื่อการมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อเป็นของขวัญให้ใครบางคน เพื่อความสุขของครอบครัวและตัวเอง เพื่อให้เจ้านายและผู้ร่วมงานมองตนเองในด้านดี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น โดยกำหนดเวลาให้ชัดเจน ตลอดจนเข้มงวดและมีวินัยต่อการปฏิบัติตนในกระบวนการรักษา 4. พบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นระยะๆ เช่น เลิกดื่มสุราได้นานขึ้นเรื่อยๆ ทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และมีความพยายามขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีความภูมิใจและรู้สึกดีต่อตนเองขึ้นเรื่อยๆ และ 5. มีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนช่วยให้สามารถเลิกดื่มสุราได้ ทั้งญาติ บุคคลใกล้ชิด เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้นำชุมชน ชมรม สมาคม สโมสร มูลนิธิ และสถาบันทั้งทางวิชาชีพและวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
"หากผู้ป่วย ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและได้รับการกระตุ้นเร้าให้เกิดพลังใจหรือพลังสุขภาพจิต 5 ประการดังกล่าว อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยใส่ใจและตั้งใจที่จะปฏิบัติตนอย่างมีวินัยต่อกระบวนการรักษา ซึ่งจะช่วยให้เลิกดื่มสุราได้ยาวนานขึ้น จนบางรายอาจเลิกดื่มได้เด็ดขาดในที่สุด" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว