กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น0.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 48.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.94เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 46.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 47.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป เบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.46เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 62.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 14 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 490.6 ล้านบาร์เรล
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 21 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1 แท่น อยู่ที่ 764 แท่น ส่งผลให้จำนวนแท่นเฉลี่ย 4 สัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น 2 แท่น เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบปี
· Joint Organization Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบ ในเดือน พ.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 6.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· International Energy Agency (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 60 นี้ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเติบโต 1.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 97.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 2 ปี
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Petro-Logistics ประเมินว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน ก.ค. 60 จะเพิ่มขึ้น 145,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ในระดับสูงกว่า 33 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของเอกวาดอร์ นาย Carlos Perez กล่าวว่าสามารถลดการผลิตน้ำมันดิบ เพียง 60 %จากข้อตกลงในกลุ่ม OPEC ที่ตั้งเป้าหมายจะลด 26,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 545,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะต้องหารายได้เพิ่มสำหรับงบประมาณปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะขาดดุล 7.5 %
· EIA ประเมินปริมาณการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 5.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ล่าสุด (17-21 ก.ค. 60) เพิ่มขึ้น เลขาธิการ OPEC นาย Mohammad Barkindo กล่าวว่าตลาดน้ำมันใช้เวลาปรับสมดุลมากกว่าที่คาดไว้ โดยน่าจะเห็นผลในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ปฏิบัติตามข้อตกลงลดการผลิต ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความต้องการใช้น้ำมันโลกยังแข็งแกร่ง อาทิ ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในยุโรปส่งออก Diesel ไปยังอเมริกาใต้ สหรัฐฯ อินเดีย และส่งออก Gasoline ไปยังแอฟริกาเพิ่มขึ้น ทำให้โรงกลั่นน้ำมันในยุโรปเร่งอัตราการกลั่น และปริมาณน้ำมันดิบในคลังสำรองบริเวณ Atlantic Basin มีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตามช่วงปลายสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังกระแสข่าวบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Petro-Logistics ประเมินว่ากลุ่ม OPEC จะผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 60 เพิ่มขึ้น อีกทั้งเอกวาดอร์ออกมายอมรับว่าไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงลดการผลิตน้ำมัน สะท้อนจุดอ่อนในการดำเนินการ จึงต้องจับตาการประชุมระหว่างกลุ่ม OPEC และประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่ม ในวันนี้ ที่กรุงเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวต นาย Essam al-Marzouq กล่าวว่าจะหารือกันเรื่องข้อตกลงลดการผลิตน้ำมัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะถกประเด็นลิเบียและไนจีเรีย ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกเว้นจากข้อตกลง หากสามารถผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ อาจพิจารณาให้ควบคุมการผลิต ทั้งนี้ตลาดไม่คาดหวังว่าจะมีผลการประชุมที่เป็นรูปธรรม
ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.50-50.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 43.00-47.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 45.50-49.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น จากสำนักงานพลังงานแห่งชาติไต้หวันรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน พ.ค. 60 ลดลงจากปีก่อน 2.7 % มาอยู่ที่ 886,000 บาร์เรลต่อวัน และบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโก Pemex มีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินปริมาณรวม 3.5 ล้านบาร์เรล เพื่อชดเชยการผลิตในประเทศที่ลดลงเพราะโรงกลั่น Salina (กำลังการกลั่น 140,000 บาร์เรลต่อวัน) เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อ 14 มิ.ย. 60 ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 19 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.97 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.68 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 15 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.28 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.87 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม IEA คาดอุปสงค์น้ำมันเบนซินของจีนในปี 60 จะชะลอตัว เทียบกับปี 2558-59 (ซึ่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 230,000-290,000 บาร์เรลต่อวัน) โดยเติบโตอยู่ที่ 95,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะยอดขายรถยนต์ลดลง โดยประชาชนหันมาใช้รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ Share การใช้จักรยานมากขึ้น ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.00-65.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณสำรองในภูมิภาคลดลง อาทิ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 19 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.73 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.99 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 15 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.43 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 9.08 ล้านบาร์เรล อีกทั้งมีแรงซื้อจากภูมิภาคอุปสงค์ อาทิ บริษัท Saigon Petro ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S จำนวน 2 เที่ยวเรือ รวม 149,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบวันที่ 1-5 ส.ค. และ 19-23 ส.ค. 60 อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันดีเซลเพื่อการชลประทานของอินเดียลดลง หลังฝนตกหนักในหน้ามรสุม อีกทั้ง Plattsรายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียมีแนวโน้มอ่อนตัว เพราะโรงกลั่นทยอยกลับมาดำเนินการหลังเสร็จสิ้นการหยุดซ่อมบำรุง ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.00-63.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล