กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 43 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในช่วงวันที่ 24 – 27 กรกฎาคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีแนวโน้มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และฝนตกหนักในบางพื้นที่ อาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนบน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 43 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคกลางตอนบน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ชัยนาท และลพบุรี รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในช่วงวันที่ 24 – 27 กรกฎาคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ชุดหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา ที่ลุ่มต่ำ และบริเวณริมชายฝั่งทะเลให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก พร้อมตรวจสอบท่อและทางระบายน้ำมิให้มีสิ่งของหรือวัสดุอุดตัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ให้จัดเตรียมสถานที่ปลอดภัย จุดอพยพ หรือศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบทันที เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบสาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง