IRC ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ คืนคนดีสู่สังคม มอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จตามหลักสูตร โครงการ “ให้อาชีพ ให้ชีวิต” นำส่งแรงงานฝีมือคุณภาพสู่อุตสาหกรรมไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday July 25, 2017 09:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ "ให้อาชีพ ให้ชีวิต" กล่าวภายหลังมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จตามหลักสูตร โครงการ "ให้อาชีพ ให้ชีวิต" ว่า งานวันนี้นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เห็นถึงพลังแห่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของผู้ต้องขังให้สามารถประกอบอาชีพสุจริตภายหลังการพ้นโทษ ด้วยการฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ต้องขังหญิงในวัยทำงาน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการฝึกระเบียบวินัย ฝึกความคิด และการอบรมจิตใจ จนกลายเป็นฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพให้กับภาคอุตสาหกรรม สร้างผลิตภาพให้กับประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งผู้ต้องขัง การพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจของประเทศไทย นางทิวาภา รักสัตย์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ตำบลคลองห้า กล่าวเสริมว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทย คือ การที่ผู้ต้องขังพ้นโทษทัณฑ์ออกไปแล้วไม่มีอาชีพรองรับ โอกาสที่จะได้รับเข้าทำงานมีน้อย จึงเป็นเหตุให้หวนกลับไปกระทำความผิดแบบเดิมอีก กรมราชทัณฑ์ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC จัดตั้งโครงการ "ให้อาชีพ ให้ชีวิต" เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งด้านรู้และด้านองค์ความคิดให้ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่จะคัดเลือกผู้ต้องขังหญิงที่เป็นนักโทษที่มีความประพฤติดีที่ผ่านกระบวนการบำบัดฟื้นฟูแล้ว เหลือโทษจำไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน และมีสุขภาพแข็งแรง สายตาดีมาเข้าร่วมโครงการ โดยการเริ่มต้นจากการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ตำบลคลองห้า หรือผู้คุม ที่ฝึกปฏิบัติงานของ IRC เพื่อเข้าใจหลักสูตรอย่างถ่องแท้ พร้อมกันนั้นทาง IRC ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมอยู่ประจำร่วมด้วย ซึ่งสามารถทำการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี คือในห้องเรียนและภาคปฏิบัติหน้างานจริง นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC กล่าวว่า IRC ได้ดำเนินการสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับใช้เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งห้องฝึกอบรมและพื้นที่ฝึกปฏิบัติงานได้ตามหลักสูตรของโครงการให้กับผู้ต้องขังเพื่อให้โอกาสในการได้รับเข้าทำงานภาคอุตสาหกรรมหลังพ้นโทษ บนพื้นที่พิเศษของกรมธนารักษ์ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ตำบลคลองห้า ภายในอาคารจะประกอบไปด้วยพื้นที่ปฏิบัติงาน ห้องฝึกอบรม ห้องสำหรับเจ้าหน้าที่ให้ผู้ต้องขังมีโอกาสได้ปฏิบัติงานจริงในสถานที่จริงทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการฝึกความปลอดภัย ระเบียบวินัย การพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยความร่วมมือดังกล่าว นับเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ส่งเสริมความยั่งยืนของ IRC โดยเป้าประสงค์ของการดำเนินโครงการก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหลายภาคส่วนในระยะยาว ได้แก่ การคืนคนดีสู่สังคมช่วยแก้ไขภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และกรมราชทัณฑ์ยังสามารถนำรายได้ไปพัฒนาสภาพความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่คุมขังต่อไป นอกจากนี้ ผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีการฝึกความคิดและอบรมจิตใจให้มีหิริโอตัปปะความละอายและเกรงกลัวต่อบาปเป็นหลักคอยเตือนจิตใจ โดยการจัดกิจกรรมให้ผู้ต้องขังรักษาศีล 5 ในวันพระ และมีโอกาสได้รับฟังธรรมเทศนาจากพระอาจารย์ชยสาโร แห่งสำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จังหวัดนครราชสีมา "ตลอดระยะเวลา 4 ปี สามารถบ่มเพาะผู้ต้องขังที่มีศักยภาพผ่านขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ การผ่านการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติงาน ด้านความปลอดภัย (Safety), 5 ส, การสร้างจิตสำนึกด้านคุณภาพ (Quality Awareness), การปฏิบัติตามมาตรฐาน (WI), การอบรมจิตใจให้มีความอดกลั้นและหิริโอตัปปะ จำนวน 672 ราย และสามารถยกระดับปรับปรุงงานพร้อมรักษามาตรฐานได้อย่างเด่นชัด จนผ่านขั้นตอนที่ 5 โดยมีจำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับประกาศ จำนวน 62 ราย ทั้งนี้ มีผู้ต้องขังบางส่วนที่พ้นโทษ จึงทำให้มีจำนวนผู้ต้องขังรับใบประกาศในวันนี้ จำนวน 39 ราย ซึ่งมีใบสมัครงานของหลากหลายกิจการรออยู่" นางพิมพ์ใจ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ