กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· สจล. ตั้งเป้าดัน "วิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก" เป็นศูนย์กลางของข้อมูลด้านข้อมูลฝนและการพยากรณ์อากาศของประเทศ เปิดรับสมัครนักศึกษา ป.ตรี รุ่นแรกปี 2561 หวังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ – ป้องกันภัยธรรมชาติของประเทศ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวระบบพยากรณ์อากาศและแอพพลิเคชั่น "WMApp" ที่มีความแม่นยำและความละเอียดสูงที่สุด รายเขตปกครองในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ "อาเซียน" เชื่อมต่อระบบแผนที่ Google Maps สามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ พร้อมบอกความหนักเบา และเวลาที่ฝนจะตก ได้ทั้งระยะสั้นล่วงหน้า 28 ชม. และระยะยาวล่วงหน้า 5.5 วัน อันเป็นผลมาจากการวิจัยพัฒนาอัลกอริทึมประมาณค่าหยาดน้ำฟ้า (ฝน หิมะ ลูกเห็บ) จากการสังเกตของดาวเทียม และพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศเชิงเลขความละเอียดสูงสำหรับเขตร้อน (Tropics) ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ซึ่งไม่เพียงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวอาเซียนในการอำนวยความสะดวกการวางแผนเดินทาง อีกทั้งยังสามารถประยุกต์เป็นเครื่องมือเตือนภัยธรรมชาติล่วงหน้าบรรเทาความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเผยความคืบหน้าโครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก โดยมีแผนผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของข้อมูลด้านข้อมูลฝนและการพยากรณ์อากาศของประเทศ คาดเปิดรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรี รุ่นแรกปี 2561 นำร่อง 2 หลักสูตร "Earth Systems& Environmental Engineering" และ "Space Engineering" หวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการป้องกันภัยธรรมชาติของประเทศ
ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้รับผิดชอบโครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering: SESE) เปิดเผยว่า ได้พัฒนานวัตกรรม www.worldmeteorology.com และ"WMApp" แอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป เนื่องจากเล็งเห็นว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้สภาพภูมิอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประกอบกับการพยากรณ์อากาศของประเทศยังขาดความน่าเชื่อถือ เพราะผลการพยากรณ์อากาศมีลักษณะกว้างๆ ไม่สามารถระบุรายละเอียดตำแหน่ง เวลา และความหนักเบาที่ฝนจะตกได้เนื่องจากอาศัยข้อมูลจากมาตรวัดฝนและเรดาร์ ปัจจุบันมาตรวัดฝนมีความแม่นยำน้อยลงจากอิทธิพลของลม และตำแหน่งของมาตรวัดส่วนใหญ่อยู่ห่างกันไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่เรดาร์วัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจคลาดเคลื่อนจากการที่น้ำและน้ำแข็งในบรรยากาศระเหยหรือระเหิดไปก่อนไม่ตกลงมาบนพื้นโลก ต่างจากการใช้ดาวเทียมที่ทำให้ได้ข้อมูลหยาดน้ำฟ้า (ฝน หิมะ ลูกเห็บ) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว สามารถสังเกตซ้ำพื้นที่เดิมได้บ่อยครั้ง และประหยัดค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมาประเทศไทยจึงเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติขนาดใหญ่หลายครั้ง เช่น แม่น้ำโขงตอนล่างมีระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในฤดูหนาวของปี 2552 มหาอุทกภัยในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนในปี 2554 ภัยแล้งและอุทกภัยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
จากปัญหาข้างต้นจึงร่วมกับทีมวิจัยพัฒนาอัลกอริทึมประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าจากการสังเกตของดาวเทียม และพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศเชิงเลขความละเอียดสูงสำหรับเขตร้อน (Tropics) ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ซึ่งทำให้เกิดองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยอยู่ในแนวหน้าในระดับนานาชาติ ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้ทำให้ได้อัลกอริทึม AMP และJPP ประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าจากการสังเกตของดาวเทียม คลื่นมิลลิมิเตอร์เวฟแบบแพสซิฟและดาวเทียมค้างฟ้าอินฟราเรดแบบแพสซิฟ จึงสามารถประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าทั่วโลกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และระบบพยากรณ์อากาศเชิงเลขความละเอียดสูงสำหรับเขตร้อนที่ให้ผลการพยากรณ์อากาศ ที่มีความละเอียดสูงที่มีความถูกต้องแม่นยำสามารถระบุตำแหน่งและเวลาที่ฝนจะตก นำมาต่อยอดพัฒนานวัตกรรม www.worldmeteorology.com และโปรแกรมประยุกต์เคลื่อนที่ หรือแอพพลิเคชั่น WMApp สำหรับอุปกรณ์ Androidและ iOS เปิดให้กับประชาชนทั่วไปใช้งานฟรีเพื่อประโยชน์ในวงกว้าง โดยมีคุณสมบัติและลักษณะเด่นในการพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงรายเขตปกครองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมกับระบบแผนที่ Google Maps สามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ พร้อมบอกความหนักเบาและเวลาที่ฝนจะตก ได้ทั้งระยะสั้นล่วงหน้า 28 ชม. และระยะยาวล่วงหน้า 5.5 วัน
"ความพิเศษของระบบพยากรณ์อากาศชิ้นนี้คือนับเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้ผลการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำและมีความละเอียดสูงเป็นรายเขตปกครอง สามารถระบุตำแหน่งและเวลาที่หยาดน้ำฟ้าจะตกควบคู่กับให้ผลพยากรณ์พายุหมุน (Cyclone) ที่แม่นยำล่วงหน้า 5.5 วัน สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป จากการสังเกตของดาวเทียมคลื่นมิลลิมิเตอร์เวฟแบบแพสซิฟ และดาวเทียมค้างฟ้าอินฟราเรดแบบแพสซิฟ โดยใช้อัลกอริทึม AMP และ JPP ซึ่งอัลกอริทึม AMP ถือเป็นอัลกอริทึมแรกของโลกและมีความถูกต้องแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน ที่สามารถประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าได้ครอบคลุมทั่วโลกรวมถึงพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมและทะเลน้ำแข็ง เช่น ขั้วโลกเหนือ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถรายงานแผ่นดินไหวทั่วโลกได้ด้วย ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเพาะปลูกพืชผลหรือทำการเกษตรแบบชาญฉลาด ขณะเดียวกันวงการอุตสาหกรรมก็ใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนโรงไฟฟ้าพลังงานลม อุตสาหกรรมประมงและการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาเซียน ช่วยอำนวยความสะดวกการวางแผนการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยัง ประยุกต์เป็นเครื่องมือเตือนภัยธรรมชาติล่วงหน้า บรรเทาความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อีกด้วย"
ผศ.ดร.ชินวัชร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหาการความไม่แม่นยำการพยากรณ์อากาศ การบริหารจัดการน้ำ และป้องกันภัยธรรมชาติภาพรวมของประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับระบบโลก โดยมองทั้งการกระทำของมนุษย์ที่จะทำให้โลกเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ผลักดันโครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering: SESE) ขึ้น เพื่อหวังแก้ไขปัญหาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยบูรณาการองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากหลายศาสตร์ที่ประเทศไทยยังขาดหรือยังไม่ได้มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากประเทศไทยยังไม่พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้เท่าทันสภาพอากาศแบบสุดโต่งในปัจจุบันที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจสร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรงในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศโดยใช้ดาวเทียมประเภทต่างๆ ถือเป็นวิธีการเดียว ที่สามารถสังเกตข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเกี่ยวกับระบบต่างๆ ของโลก ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกอย่างรวดเร็วและบ่อยครั้ง เช่น การสังเกตอุณหภูมิ ปริมาณหยาดน้าฟ้า พายุ พื้นที่น้าท่วม พื้นที่เกิดไฟป่า ปริมาณและการแพร่กระจายของละอองลอยจากไฟป่า การกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ การหดตัวของธารน้ำแข็ง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ ความเร็วและทิศทางลมในมหาสมุทร การเปลี่ยนแปลง การใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเสริมว่า โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering: SESE) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านภัยธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำ สิ่งแวดล้อม และพลังงานของประเทศได้จริง โดยบูรณาการองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ พร้อมน้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ ทางด้านวิทยาศาสตร์ระบบโลก (Earth System Science) และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติเพื่อประโยชน์ต่อสังคม โดยมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านข้อมูลฝนและการพยากรณ์อากาศของประเทศ และให้บริการวิชาการทางด้านวิศวกรรมระบบโลกและสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมอวกาศ การบริหารจัดการภัยธรรมชาติ และพลังงานที่ยั่งยืน ชั้นนำในระดับนานาชาติ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านภัยธรรมชาติ การบริหารจัดการนน้ำ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ของประเทศและของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะสามารถเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรี รุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 แบ่งออกเป็น 2หลักสูตร คือ 1. Earth Systems & Environmental Engineering และ 2. Space Engineering โดยขณะนี้ สจล. ได้ลงนานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคนอก ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ 1.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งของประเทศ และ 2.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรับรู้ระยะไกลและการพยากรณ์อากาศและภูมิอากาศ (RPWC) ขณะเดียวกันยังได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือทั้งในเรื่อง Double-degree Programs ความร่วมมือในการศึกษาวิจัย การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และศึกษา อาทิ การวิจัยพัฒนาดาวเทียมค้างฟ้าคลื่นไมโครเวฟ กับ National Space Science Center (NSSC) ประเทศจีน การวิจัยพัฒนากลุ่มของดาวเทียมขนาดเล็ก กับ MIT เป็นต้น
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th