กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
"วันเข้าพรรษา" เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เนื่องจาก ในอดีตตลอดช่วงฤดูฝน ระยะเวลากว่า 3 เดือนนั้น พระภิกษุสงฆ์จะต้องจำพรรษาตามพระธรรมวินัย จึงเป็นโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ร่วมสืบทอดประเพณีปฏิบัติ การทำบุญในวันเข้าพรรษาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ในโอกาสช่วงประเพณี "เข้าพรรษา" แบบนี้ มิวเซียมสยาม จะพาทุกคนไปรู้จักกับสิ่งประดิษฐ์ 3 สิ่งที่แสดง"ภูมิปัญญา" แบบไทยๆ จากนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" ที่ถึงแม้จะเป็นของที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่กลับแสดงให้เห็นว่าคนไทยเราอยู่คู่กับวัดมายาวนาน และพุทธศาสนาเป็นหลักยึดทางใจที่ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมประเพณี จนเราเองอาจไม่ทันได้รู้ตัวกันเลย
1) โปง เสียงหัวใจของชุมชนชาวพุทธ
"วัด" เปรียบเสมือนหัวใจของชุมชน ในอดีต สมัยที่ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจอันสำคัญ วัดยังเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของชุมชนด้วย แม้แต่ในเรื่องการบอกเวลา หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า "ย่ำกลอง" หรือ "ย่ำระฆัง" ซึ่งก็คือการตีบอกเวลาให้ทราบ ทั้งสำหรับ พระสงฆ์ เพื่อการประกอบวัตร และสำหรับชาวบ้านพุทธศาสนิกชน เพื่อบอกเวลา แจ้งรวมพลเพื่อให้เตรียมตัวเข้าวัดฟังธรรม และบอกเหตุการณ์ผิดปรกติต่างๆ ด้วย แต่ในโลกปัจจุบันที่เรามีสิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อ นาฬิกา เสียงสัญญาณต่างๆ เหล่านี้จึงค่อยๆ เลือนหายไป
"โปง" เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นภูมิปัญญาของชาวอีสาน คือระฆังไม้ใบยักษ์ ทำจากไม้ซุงขนาดใหญ่ทั้งต้น ขุดเนื้อไม้ข้างในออกให้กลวง ท่อนบนเจาะเป็นรูเพื่อใช้คานสอดแขวนไว้ระหว่างเสาสองต้น ช่วงล่างสุดของตัวระฆัง ฝังบาตรพระเข้าไปในเนื้อไม้ เพื่อให้เกิดเสียงดังก้องกังวานเวลาตี ใช้ท่อนไม้ขนาดใหญ่คล้ายสาก ตีเพื่อให้เกิดเสียงดังก้อง โปงดีดีตีทีได้ยินไปไกลถึง 2 กิโลเมตรเลยทีเดียว โปงจึงใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้กับชุมชนในหมู่บ้านได้ดี
โดยปกติจะตีโปงบอกเวลา ทุกเช้าก่อนที่พระสงฆ์จะออกไปบิณฑบาต และอีกครั้งเวลาประมาณบ่าย 3 โมง เพื่อตีบอกให้ชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมที่วัด แต่ในช่วง "จำพรรษา" ที่พระสงฆ์ไม่สามารถออกไปบิณฑบาตนอกบริเวณวัดได้ ยังมีการตีโปงเพิ่มขึ้นอีก 2 ช่วงเวลา ครั้งแรก คือช่วงเวลาประมาณ 8 โมงเช้า เพื่อสวดมนต์ทำวัตรเช้า และ อีกครั้งช่วงเวลา 4 โมงเย็น เพื่อให้สัญญาณประชุมวัตรเย็น
ในปัจจุบัน หลายๆ วัดเปลี่ยนมาใช้การตี "ระฆัง" แทนการตี "โปง" เพราะต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นทำลายไปเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีการผลิตโปงใบใหม่ๆ ขึ้นมา และเทคโนโลยีการสื่อสารที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้นเข้ามามีบทบาทแทน จนเราอาจสามารถพบเห็นโปงได้แค่เพียงในวัดแถบภาคอีสาน หรือเพียงบางวัดที่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาชิ้นนี้เอาไว้เท่านั้น
2) กงพัดสรงน้ำ ฝักบัวรุ่นแรก โมเดลภูมิจักรวาล
"วันเข้าพรรษา" ธรรมเนียมปฏิบัติอีกอย่างที่หลายคนนึกถึงก็คงเป็นการถวาย "ผ้าอาบน้ำฝน" แก่ภิกษุสงฆ์ สำหรับใช้ในการสรงน้ำ นอกจากสรงน้ำพระสงฆ์ เรายังมีการสรงน้ำพระพุทธรูปอีกด้วย แต่ทำกันในช่วงสงกรานต์ และใช้สิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อ "กงพัดสรงน้ำ"เพื่อใช้ทำความสะอาดพระพุทธปฏิมาเป็นสิริมงคลในช่วงปีใหม่ไทยด้วย
"กงพัดสรงน้ำ" เป็นอุปกรณ์สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูป หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้รับแนวคิดมาจากระหัดวิดน้ำเข้านาในสมัยก่อน ทำจากกระบอกไม้ไผ่ เจาะช่องรอบปล้องไม้ไผ่ให้ได้ 6 ช่อง แล้วใช้ไม้ไผ่ก้านเล็กๆ เชื่อมช่องดังกล่าวคล้ายรางน้ำฝนที่ใช้กันตามบ้านเรือน
กงพัดสรงน้ำนี้เอง เคยมีการกล่าวถึงอยู่ในหนังสือ "ลัทธิธรรมเนียมราษฎรภาคอีสาน" โดย หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ข้าหลวงเทศาภิบาลเมืองสกลนคร สมัยรัชการที่ 5 โดยเมื่อเวลาสรงน้ำ ชาวบ้านจะเทน้ำอบลงในกงพัดที่ตั้งไว้เหนือพระพุทธรูป เมื่อน้ำไหลออกมาตามท่อ กระบอกไม้ไผ่จะหมุน น้ำจะกระจายเป็นฝอยสาดไปทั่วพระพุทธรูป ให้ภาพเหมือนกับรูปภูมิจักรวาล โดยสายน้ำที่ไหลออกมาจากก้านไม้ไผ่ทั้ง 6 ก้าน แทนมหาสมุทรทั้งหกที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ
นอกจากแนวคิดการออกแบบรูปลักษณ์ของกงพัดสรงน้ำที่เปรียบกับภูมิจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุดังกล่าวแล้ว ยังสอดแทรกคติธรรมเตือนใจสำหรับพุทธชนทั้งหลายด้วย โดยเปรียบ น้ำ แทนสัญลักษณ์ของความสะอาด และความบริสุทธิ์ เมื่อน้ำรดผ่านกงพัดไปชำระฝุ่นผงบนพระพุทธรูป ก็เปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจเรา ให้หมั่นชำระฝุ่นผงในจิตใจให้เบาบางลง คนโบราณเค้าคิดได้แยบยลจริงจริง
3) ข้าวต้มมัด ขนมมรดกทางวัฒนธรรม
สำหรับเราชาวไทย ลืมกันไม่ได้กับของคาวหวานคู่ประเพณี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเพณีไทยหลายๆ อย่าง มักจะมีเรื่องราวของอาหารหรือขนมเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะ แต่เดิมคนไทยชอบทำอาหารหรือขนม เพื่อทำบุญถวายพระ แตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น และสำหรับของคู่ประเพณี "เข้าพรรษา" ก็คงเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเสียจาก "ข้าวต้มมัด" โดย "ข้าวต้มมัด" หรือ "ข้าวต้มผัด"เป็นการนำข้าวเหนียวไปผัดกับน้ำกะทิ จากนั้นก็นำมาห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าวอ่อน แล้วนำไปนึ่งให้สุก โดยข้าวต้มมัดเอง มีชื่อเรียกแตกออกไปมากมายตามแต่ละท้องถิ่น รวมไปถึงไส้ของข้าวต้มมัดเองก็มีหลายอย่าง เช่น "ข้าวต้มกล้วย" ที่สอดไส้กล้วยน้ำว้า "ข้าวต้มมัดไต้" ที่กลับมีรสเค็ม ของชาวภาคใต้
ตำนานเกี่ยวกับ ข้าวต้มมัด มีอยู่ว่า เป็นข้าวต้มที่พระอินทร์กับนางสนมกินด้วยกันเมื่อตอนมีความรัก ต่อมาพระอินทร์จับได้ว่านางสนมมีชู้ จึงโกรธและบันดาลให้ลูกของนางสนมที่เกิดกับชู้ คลอดออกมาเป็น "ข้าวต้มมัด" เมื่อนางสนมคลอดบุตรออกมา ก็กลายเป็นข้าวต้มมัดไปจริงๆ นางสนมจึงเกิดความรังเกียจลูกของตัวเอง นำไปทิ้งไว้ที่ป่าในโลกมนุษย์ ต่อมามีคู่ตายายมาเจอข้าวต้มมัดที่ถูกทิ้งเอาไว้ ลองแกะกินดูแล้วพบว่าอร่อยเลยลองทำตามดู แล้วก็นำมาขายจนเป็นที่แพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้
คนโบราณจึงยกให้ ข้าวต้มมัด เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการครองคู่ เพราะมีลักษณะการจับขนม 2 ชิ้น มามัดเข้าไว้ด้วยกัน และมีความเชื่อว่า ถ้าหนุ่มสาวคู่ไหนทำบุญวันเข้าพรรษาด้วยข้าวต้มมัด ความรักมักจะดี ชีวิตคู่ครองจะคงอยู่นานตลอดกาล และไม่ใช่แค่ วันเข้าพรรษา เท่านั้น เรายังนำข้าวต้มมัดมาทำบุญในประเพณีตักบาตรเทโว วันออกพรรษา ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ที่หลายๆ คนอาจจะเคยรู้จักกันในชื่อ "ข้าวต้มลูกโยน" ที่ทั้งรูปลักษณ์และกรรมวิธีการผลิตคล้ายคลึงกับ ข้าวต้มมัด แต่ไฮไลท์อยู่ที่หางยาวๆ ที่ใช้ตอกหรือไม้ไผ่มัดให้เป็นหาง ผูกเข้าด้วยกันเป็นพวง
จะเห็นได้ว่า ภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ มีความสำคัญไม่ใช่แค่เพียงเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต แต่ยังแสดงให้เห็นถึง ความคิด ความเชื่อของเราชาวไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน ซึ่งยังคงปรากฏและผสมกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมประเพณีจนถึงทุกวันนี้ ช่วงเข้าพรรษานี้ หากใครที่เสร็จกิจพิธีกรรมจากวัดแล้ว กำลังมองหาที่ไป มิวเซียมสยาม ขอแนะนำนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" นิทรรศการต่อยอดความเป็นคนไทยช่างประดิษฐ์ ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยเราอยู่อาศัยกับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข งานนี้ไม่ได้มีแค่ "โปง" "กงพัดสรงน้ำ" หรือ "ข้าวต้มมัด" แต่ยังมีสิ่งของเครื่องใช้ ภูมิปัญญา ในแบบฉบับ "ไทยทำ" กว่าร้อยชนิด สำหรับใครที่สนใจ สามารถไปเยี่ยมชมและศึกษาเพิ่มเติมกันได้แล้ว กับ นิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2560 ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ข้างวัดโพธิ์) กรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 543 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org