กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
วิทยาลัยดุสิตธานี ชี้การแข่งขัน "คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง" ในอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวช่วงฤดูโลว์ซีซั่นปี 2560 นี้ดุเดือด วัดกันที่ "ความคิดสร้างสรรค์" ของผู้ประกอบการ ในการดึงดูดความสนใจ และสื่อสารแบบตรงจุดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเปิด 4 กลยุทธ์บริหารจัดการที่พักช่วงฤดูโลว์ซีซั่น ได้แก่ 1) จับเทรนด์ ตามกระแสโลกให้ทัน 2) เก็บข้อมูลสม่ำเสมอ 3) จับมือกับธุรกิจท้องถิ่น และ 4) สะสมยอดจองล่วงหน้า โดยแนวโน้มฤดูโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวไทยปีนี้ ยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ จีน อินเดีย และประเทศภายในสมาชิกอาเซียน อย่างต่อเนื่อง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยดุสิตธานี หมายเลขโทรศัพท์ 02-361-7811 ถึง 3 และเว็บไซต์www.facebook.com/DTCThailand
อาจารย์วัชรากร มยุรี อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการโรงแรมและรีสอร์ท วิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวว่า กลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตามกระแสโลกและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่แต่เดิมมุ่งเน้นการนำเสนอแบบรูปแบบเดิม (Traditional Publicity) เช่น โทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร แต่ในปัจจุบันการทำการตลาดแบบสร้างคอนเทนต์ (Content Marketing) เป็นกลวิธีที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และสะท้อนผลกลับมาเป็นรายได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบัน ที่เป็นช่วงฤดูโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวในประเทศไทย การทำการตลาดคอนเทนต์มีความดุเดือดและแข่งขันกันสูงมากบนโลกออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ที่ต่างมีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ถึงโปรโมชั่นต่างๆ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งสายการบิน โรงแรมที่พัก แพ็คเกจท่องเที่ยว
อาจารย์วัชรากร กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักของการตลาดแบบสร้างคอนเทนต์นั้น คือความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้ประกอบการต้องคิดหาการนำเสนอที่แปลกใหม่ และเป็นที่สนใจของผู้บริโภค เช่น การนำเสนอภาพเมนูอาหารจานเด็ดของที่พัก ที่มีการนำเสนอถึงวิธีการคัดสรรวัตถุดิบท้องถิ่นและนำเสนอวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ผ่านอาหาร รวมไปถึงการนำเสนอห้องพักผ่านบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่างๆ จะเป็นตัวช่วยในการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ ต้องมีการบริหารจัดการกลยุทธ์ของที่พักในช่วงฤดูโลว์ซีซั่น โดยสามารถสรุปเป็น 4 ข้อ ดังนี้
1. จับเทรนด์ ตามกระแสโลกให้ทัน – ศึกษาแนวโน้มความนิยมของกลุ่มลูกค้า พิจารณาคู่แข่ง และจัดทำแผนกลยุทธ์ของตนเอง โดยพิจารณาถึงการแบ่งส่วนของตลาด (Segmentation) และการกำหนดเป้าหมาย (Targeting) ในช่วงของฤดูโลว์ซีซั่น รวมไปถึงการกำหนดตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) เพื่อดึงศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ
2. เก็บข้อมูลสม่ำเสมอ – ทำการเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ อาทิ การขาย อัตราการใช้วัตถุดิบ วัตถุดิบคงเหลือ รวมถึงข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ แผนการตลาดในช่วงโลว์ซีซั่นในปีถัดไป
3. จับมือกับธุรกิจท้องถิ่น – จัดโปรโมชั่นร่วมกับการท่องเที่ยว และธุรกิจต่างๆ ของท้องถิ่น เพื่อนำเสนอแพ็คเกจกิจกรรมที่น่าสนใจกว่าการขายที่พักเพียงอย่างเดียว เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร
4. สะสมยอดจองล่วงหน้า – วางแผนในการเก็บเกี่ยวยอดจองล่วงหน้าก่อนช่วงโลว์ซีซั่น โดยหากธุรกิจมีศักยภาพในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวปริมาณมาก อาจพิจารณาในการขายแบบกรุ๊ปทัวร์ เช่น นักท่องเที่ยวเดินทางเป็นกลุ่ม จัดงานจัดเลี้ยง รองรับการประชุมและสัมมนา ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะอยู่ในช่วงฤดูโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวประเทศไทย แต่การท่องเที่ยวประเทศไทยก็ยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวระยะใกล้จากภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน อินเดีย และประเทศภายในสมาชิกอาเซียน ซึ่งยังทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักเข้าประเทศ โดยล่าสุดในปี 2559 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยได้เป็นสัดส่วนถึง 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่า 2.51 ล้านล้านบาท เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 11% (ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) อาจารย์วัชรากร กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจต่อยอดอาชีพในกลุ่มธุรกิจอาหารหรือการท่องเที่ยว และพร้อมเรียนรู้แผนการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ได้ตลอดการเปิดภาคเรียนที่ www.dtc.ac.th หรือ สมัครสอบด้วยตนเอง (Walk-in) ทุกวันจันทร์ – วันเสาร์ที่ วิทยาลัยดุสิตธานี (ข้างศูนย์การค้าซีคอนแควร์) ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 02-361-7811 ถึง 3 และ www.facebook.com/DTCThailand