กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สะท้อนปัญหาด้านสิทธิความไม่เท่าเทียมทางเพศกรณีเพศทางเลือกในประเทศไทย ผ่าน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) คำนำหน้าในเอกสารสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวัน2) พ.ร.บ. ความเท่าเทียมด้านการทำงานกับทัศนคติของคนในสังคม และ 3) กฎหมายรับรองครอบครัว กฎหมายการจดทะเบียนสมรสกับการใช้ชีวิตครอบครัว ซึ่งหากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. รับรองเพศแล้วนั้น นอกจากจะช่วยในเรื่องผลกระทบจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนกลุ่มเพศทางเลือกมีสิทธิและความเท่าเทียมเท่ากับผู้อื่นมากขึ้นแล้วนั้น ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเป็นที่ยอมรับในสังคมในวงกว้างมากขึ้นไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามหากไม่มีการประกาศใช้กฎหมายที่รองรับเพศทางเลือก สิ่งที่ทางภาครัฐบาลควรเล็งเห็น คือ การเปิดเผยและการเติบโตขึ้นของจำนวนประชากรเพศทางเลือกในประเทศไทย และปัญหาต่างๆ ด้านสิทธิความไม่เท่าเทียมของประชากรเพศทางเลือก ที่ทางภาครัฐควรหาแนวทางเพื่อตอบสนองการดูแลประชากรอย่างครอบคลุม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ "สิทธิเพศทางเลือก กับจุดยืนในประเทศไทย สังคม กฎหมาย การทำงาน" เวทีเปิดพื้นที่กระตุ้นสังคมถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมของเพศทางเลือกในประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-564-4493 หรือ www.tu.ac.th
ผศ.ดร. มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในสังคมไทยมีการเปิดเผยของเพศทางเลือกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและในโลก หลากหลายประเทศได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านความไม่เท่าเทียม และพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับโดยทั่วไปของสังคม แต่สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันนั้น สามารถเล็งเห็นถึงปัญหาด้านกฎหมายที่ไม่รองรับถึงสิทธิความไม่เท่าเทียมทางเพศ กรณีเพศทางเลือก แบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ คำนำหน้าในเอกสารสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวัน, พ.ร.บ. ความเท่าเทียมด้านการทำงานกับทัศนคติของคนในสังคม, กฎหมายรับรองครอบครัว กฎหมายการจดทะเบียนสมรสกับการใช้ชีวิตครอบครัว
1) คำนำหน้าในเอกสารสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวัน – ปัญหาด้านการใช้คำนำหน้าในเอกสารสำคัญเป็นปัญหารากฐานที่นำมาสู่ประเด็นพื้นฐานการใช้ชีวิต และการไม่มีที่ยืนในสังคมที่ชัดเจนของกลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.บ. รับรองเพศ จะเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานโดยเพศทางเลือกที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายระบุไว้นั้น จะสามารถเลือกใช้คำนำหน้าได้ตามเพศวิถี และจะได้รับผลตามกฎหมายของเพศนั้นๆ โดยการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อนี้ ยังถือเป็นการลดปัญหาความไม่ยอมรับด้านสังคมอีกทางด้วยเช่นกัน
2) พ.ร.บ. ความเท่าเทียมด้านการทำงานกับทัศนคติของคนในสังคม – สืบเนื่องจากประเด็นคำนำหน้าในเอกสารสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมการทำงาน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในปัจจุบันมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมด้านการทำงาน ที่รองรับในประเด็นดังกล่าวอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว แต่การประกาศใช้ พ.ร.บ. รับรองเพศนั้น จะเป็นการแก้ไขประเด็นข้างต้นให้มีความครอบคลุม และช่วยลดความไม่เท่าเทียมของ พ.ร.บ. ดังกล่าวได้มากขึ้น
3) กฎหมายรับรองครอบครัว กฎหมายการจดทะเบียนสมรสกับการใช้ชีวิตครอบครัว – อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มเพศทางเลือกทั่วโลก โดยกฎหมายที่ไม่รองรับการใช้ชีวิตคู่ของเพศทางเลือก ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ด้านกฎหมายมากมาย เช่น การใช้สิทธิแทนคู่สมรส, การรับรองสิทธิหากคู่สมรสเสียชีวิต, รวมไปถึงการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันไม่ได้การระบุห้ามไว้แต่อย่างใด แต่เมื่อมีการรับรองถึงคู่สมรสของเพศทางเลือกแล้วนั้น จะช่วยปรับทัศนคติของคนในสังคม และทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายแล้ว พ.ร.บ. รับรองเพศ ไม่ได้ถูกประกาศใช้ในประเทศไทย สิ่งที่ทางภาครัฐบาลควรเล็งเห็น คือ การเปิดเผยและการเติบโตขึ้นของจำนวนประชากรเพศทางเลือกในประเทศไทย และปัญหาต่างๆ ด้านสิทธิความไม่เท่าเทียมของประชากรเพศทางเลือก ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน, ความไม่เท่าเทียมในการทำงาน, และด้านการสมรสและการใช้ชีวิตครอบครัว ที่ทางภาครัฐควรหาแนวทางเพื่อตอบสนองการดูแลประชากรอย่างครอบคลุม ประกอบกับหามาตรการรองรับกับการเปิดกว้างที่เพิ่มมากขึ้นของกระแสโลก และกฎหมายของประเทศไทยที่สวนทางกับภาพลักษณ์ของประเทศจากสายตาของชาวต่างชาติที่มองประเทศไทยเป็นหนึ่งในแดนในฝันของเพศทางเลือก ผศ.ดร. มาตาลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม กล่าวว่า ในห้วงเวลาที่ตนยังเป็นวัยรุ่น ณ ขณะนั้น การแสดงออกของเพศทางเลือก ยังไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมมากนัก ทุกอย่างถูกปิดกั้น และมีความไม่เท่าเทียมสูง ทั้งในแง่ของการเรียนและการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ที่ต้องแต่งกายให้ตรงตามเพศสภาพ หรือแม้กระทั่งบุคลากรที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ ก็ถูกกีดกันไม่ให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าจะชักจูงลูกศิษย์ให้มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางเพศ แต่ในปัจจุบัน สังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการเปิดกว้างมากขึ้น และชี้วัดบุคคลที่ความสามารถมากกว่าเพศสภาพเป็นลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีในบางบริบทที่ยังไม่ได้เปิดรับมากนัก ซึ่งหาก พ.ร.บ. รับรองเพศ ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบในทุกขั้นตอน และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ตนมองว่า ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น อันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางเพศจะหมดไป และอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายของคนในสังคมอย่างเป็นสุข
ในมุมมองของ นายชวิน ศรีสมวัฒน บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะเพศทางเลือกคลื่นลูกใหม่ กล่าวเสริมว่า ตนค่อนข้างโชคดีที่ตลอดการเรียน 4 ปีการศึกษาที่ มธ. มีเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศ ทั้งการแต่งกายในชุดนักศึกษาหญิงเข้าเรียน และการสวมชุดครุยรับปริญญา ซึ่งทำให้ตนรู้สึกเท่าเทียม และไม่ได้แปลกแยกจากเพื่อนคนอื่น แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบในบางบริบทของสังคม เมื่อต้องสัมภาษณ์เพื่อเข้าฝึกงานบริษัทแห่งหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า นโยบายของบริษัทไม่รับบุคคลที่แต่งกายตรงข้ามกับสถานภาพทางเพศ จึงทำให้ตนต้องหาที่ฝึกงานใหม่ ซึ่งหาก พ.ร.บ. รับรองเพศได้ผ่านการอนุมัติและดำเนินการใช้จริงแล้ว โดยส่วนตัวมองว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งในการทลายกำแพงของความเหลื่อมล้ำให้เบาบางลง เกิดความเข้าใจที่ดีและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล รวมถึงไม่ตัดสินบุคคลอื่นเพียงแค่เพศสภาพ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ "สิทธิเพศทางเลือก กับจุดยืนในประเทศไทย สังคม กฎหมาย การทำงาน" เวทีเปิดพื้นที่กระตุ้นสังคมถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมของเพศทางเลือกในประเทศไทย โดยมี ผศ.ดร. มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม, และนายชวิน ศรีสมวัฒน บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเพศทางเลือกคลื่นลูกใหม่ ร่วมเสวนา กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-564-4493หรือ www.tu.ac.th