สกว.จุดประกายสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรมด้วยงานวิจัย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 26, 2017 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. เปิดเวทีนำเสนอผลงานนักวิจัย ป.โท-เอก ในการประชุมวิชาการโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม "จุดประกายความคิด สร้างเศรษฐกิจนวัตกรรม ด้วยพลังงานวิจัย" หวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการต่อยอด เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานประชุมวิชาการ ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ "จุดประกายความคิด สร้างเศรษฐกิจนวัตกรรม ด้วยพลังงานวิจัย / A FUELING INNOVATIVE ECONOMY WITH R&D" โดยมี คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถานำ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยจากนักศึกษาระดับปริญญาโทรและเอกอันเป็นประโยชน์ด้วยมุ่งหวังให้เกิดความตื่นตัวในการดำเนินงานวิจัยร่วมกันระหว่างภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นการสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาทุนรุ่นพี่ และรุ่นน้อง อาจารย์ผู้ได้รับทุน นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวระหว่างการปาถกฐาว่า จากการดูงานและประชุมที่ยุโรปได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความสำเร็จของซัมซุงที่กวาดนักวิจัยที่มีความรู้จากทั่วโลกไปทำงานด้วย นอกจากนี้ยังพบความสำเร็จของหัวเหว่ยที่มีนักวิจัยถึง 70,000 คนในปี 2015 ก่อนจะเพิ่มนักวิจัยอีกถึงหนึ่งหมื่นคน "แต่ตอนนี้ในเมืองไทย สิ่งที่เราด้อยกว่าเพื่อน คือ เรื่องเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าจากนี้ไปประเทศไทยจะเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญแล้วจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 วันนี้เห็นได้ชัดเจนว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ที่เป็นแกนกลางในการพัฒนาประเทศ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องนี้ก็จบ แต่ตอนนี้ผมดีใจมากที่ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการวิจัย" นายกานต์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขณะนี้คือเรามีนักศึกษาปริญญาเอกในระบบเกือบ 10,000 คน แต่มีนักวิจัยในภาคเอกชนเพียง 700 คนเท่านั้น ทั้งที่ในภาคเอกชนงานวิจัยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเสนอว่าควรถ่ายเทนักวิจัยจากภาครัฐไปภาคเอกชน เพราะการทำงานกับเอกชนจะได้ประโยชน์สูง โดยเฉพาะคนที่จบภาคอุตสาหกรรม จะเห็นได้ชัดว่าตอนนี้สัดส่วนของตัวเลขจีดีพีกว่า 70 % มาจากภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการให้นักวิจัยที่มาช่วยภาคอุตสาหกรรมก็จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการวาง ยุทธศาสตร์ของชาติเป็นแกนว่า จะนำงานวิจัยมาเป็นหลัก ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า สกว.ได้ทุนสนับสนุนการวิจัยผ่านทุน พวอ. เพื่อให้การทำงานสนองและสอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาประเทศ ด้วยนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วยหลักการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้และนวัตกรรม ผ่านการสร้างนักวิจัย ซึ่งการสนับสนุนการสร้างวิจัยเพื่อการผลิตนอกจากจะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว ยังช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ พวอ. ทั้งการเพิ่มอัตราส่วนจำนวนนักวิจัยที่มีความเข้าใจด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น เพิ่มจำนวนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม และการเพิ่มเครือข่าย สร้างบุคลากรวิจัยคุณภาพสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในงานวิจัยประยุกต์สู่ภาคอุตสาหกรรมจริง ที่สามารถสร้างผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบให้กับประเทศมากขึ้น ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากกว่า 700 คน จากภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของการวิจัย และพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้ตามที่ สกว. ผ่านโครงการ พวอ. ได้พยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ โครงการ พวอ. กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ของการดำเนินงานให้ทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการฯ ได้มีการให้ทุนไปแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 1,000 ทุน ในแต่ละปีจะมีการให้ทุนผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยรวมมากกว่า 200 ทุนต่อปี โดยทุกทุนเป็นทุนที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยบางส่วนจากผู้ประกอบการทั้งสิ้น และก่อให้เกิดทั้งองค์ความรู้ การนำไปใช้ประโยชน์จริง ในรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ และการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในโรงงานอีกด้วย การประชุมวิชาการในปีนี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนทุนผู้ช่วยวิจัย โดยจัดกลุ่มตามสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมยา สมุนไพร และวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุศาสตร์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ ยานยนต์ ขนส่ง และโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน สิ่งแวดล้อม และปิโตรเคมี รวมถึงการปาฐกถาจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในหัวข้อ "Startup กับตลาดทุน" คุณวิรุฬห์ ตัณฑะพานิชกุล Exclusive Director บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด ให้เกียรติขึ้นกล่าว ในหัวข้อ "สเกลอัพสู่ฝัน สร้างพันล้านจากงานวิจัย" เป็นต้น สำหรับผลงานวิจัยเด่นของนักศึกษา พวอ. ในปีนี้ ตัวอย่างเช่น มัลติเอนไซม์กำจัดสิ่งสกปรกบนเส้นใยสับปะรดและผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยสับปะรด ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โรงงานต้นแบบการบำบัดน้ำเสียปนเปื้อนซัลฟ์จากการแปรรูปยางแผ่นด้วยเซลล์เชื้อเพลิงชีวภาพแบบทุ่นลอย ไบโอเซรามิกส์จำกัดสารปราบศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม แผ่นปิดแผลไฟไหม้จากไหมผสมสารฆ่าเชื้อจากขมิ้นชัน ออร์กาโนเจลจากน้ำมันรำข้าวสำหรับผลิตภัณฑ์เนยขาวทดแทนเนยที่มีไขมันทรานส์ แป้งเกี๊ยวปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเห็ดถั่งเช่าสีทอง การลดจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่องในกระบวนการผลิตเครื่องเคลือบศิลาดล และปุ๋ยหมักผักตบชวาจากการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ