กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการสัมมนา เรื่อง "การซักซ้อม ทบทวน แนวทางปฏิบัติงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ณ ห้องประชุมสโมสรกองทัพบก ว่า การจัดสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ชี้แจง และเน้นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สำคัญ และบทบาทของการเป็นโซ่ข้อกลางในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลให้บังเกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงมุ่งเน้นแนวทางในการประสานการทำงานให้เกิดความเป็นเอกภาพและสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบครบวงจร อีกทั้งยังเพื่อติดตามและการรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งหวังให้ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบเหมือนสายโซ่ ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์และนโยบายกระทรวง แผนงาน โครงการระดับกรมสู่การปฏิบัติ เหมือนโซ่เป็น 3 ข้อหลัก ได้แก่ โซ่ข้อต้น คือ ผู้บริหารระดับสูง โซ่ข้อกลาง ได้แก่ ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าของหน่วยงานระดับกรม และทีม Single Command (SC) ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อน เพื่อเชื่อมโยงการทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีความเข้าใจและสามารถสร้างการรับรู้นโยบาย แผนงาน โครงการ เพื่อนำไปปฏิบัติสู่เป้าหมายร่วมกัน และโซ่ข้อปลาย คือ หัวหน้าหน่วยงานระดับอำเภอ ตำบล ตลอดจนเครือข่ายอาสาสมัครเกษตร" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 คือ การเกษตรที่ใช้นวัตกรรมแบบอัจฉริยะ (Smart) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด ด้วยสินค้าที่มีความปลอดภัย ยกระดับมูลค่าด้วยคุณภาพมาตรฐาน ประหยัดทรัพยากรน้ำ และใช้พื้นที่การเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และร่วมกันแบบประชารัฐ โดยในปี 2560 - 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ด้วยนโยบายยกกระดาษ A4 แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านคุณภาพสินค้า ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตร GAP หรือเกษตรอินทรีย์ 2)ด้านประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สามารถขยายผลรวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูปด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่เรียกว่าข้อมูลชุดแผนที่ Agri-map หรือ Zoning by Agri-map 3) การลดรายจ่ายในครัวเรือนเพิ่มรายได้ ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฏีใหม่ และ 4) สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยให้องค์ความรู้ผ่าน ศพก. 882 ศูนย์ และขยายเครือข่าย 8,820 ศูนย์ พร้อมทั้งขับเคลื่อนโครงการ 9101 ให้ชุมชนเข้มแข็ง ตลอดจนกลไกกระบวนการยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็ง