กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โดยขณะนี้ได้ประกาศเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นของตำบลแล้ว 42 ตำบล และกรั่นกรองเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับอำเภอได้ 16 ผลิตภัณฑ์
นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จังหวัดสงขลา ได้ทำคำขอโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ปี 2544 โดยให้มีการจัดทำโครงการในรูปผลิตภัณฑ์ดีเด่นทุกหมู่บ้านแล้วทำการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ดีเด่นประจำตำบลละหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับตำบล และสามารถประกาศเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นประจำตำบลแล้วจำนวน 42 ตำบล และได้มีการกลั่นกรองผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับอำเภอ จำนวน 16 ผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าเกาะยอ หมู่ที่3 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา เชือกกล้วย หมู่ที่9 ตำบลกูเต่า อำเภอหาดใหญ่ กรงไก่ชนท่าชะมวง หมู่ที่3 ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ ปลาทับทิม หมู่ที่3,4,5และ6 ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนกร รูปหนังตะลุง หมู่ที่1 ตำบลรัตภูมิ อำเภอกวนเนียง น้ำตาลแว่น หมู่ 5 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ ข้าวหอมมะลิซ้อมมือ หมู่ที่ 5 ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ ขนมเปียะ หมู่ที่3และ4 ตำบลระโนด อำเภอระโนด ทุเรียนพื้นเมือง หมู่ที่1-7 ตำบลทุ่งขมิ้น อำเภอนาหม่อน เป็นต้น
นายศิวะกล่าวอีกว่า ในการจัดทำโครงการดังกล่าวต้องมีงบประมาณสนับสนุนในเรื่องของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งงบประมาณที่จังหวัดได้ไปนั้นเป็นงบประมาณตามมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชนโดยผ่านทางสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย ในส่วนของโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายใต้แผนของสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 5 ล้านบาท
วงเงินดังกล่าวได้จัดสรรออกเป็นการเพื่อสนับสนุนงานกิจกรรมเพิ่มพูนทักษะในอาชีพจำนวน 1 ล้านบาท งานกิจกรรมเพิ่มคุณค่าในผลิตภัณฑ์ จำนวน 1.5 ล้านบาท งานกิจกรรมจัดองค์กรการบริหาร จำนวน 500,000 บาท และงานกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดและนิทรรศการจัดงานผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ 2 แห่ง ที่อำเภอหาดใหญ่และอำเภอเมืองสงขลา จำนวน 2 ล้านบาท
ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ตุลาคม 2543 จนถึง 30 กันยายน 2544 โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งโครงการนี้ชาวบ้านได้รับประโยชน์โดยตรง คือ ได้รับการเพิ่มพูนทักษะด้านอาชีพ การมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันผลประโยชน์ที่ทางพื้นที่จะได้รับคือ การหมุนเวียนทางการเงินในท้องถิ่น เกิดการบริหารจัดการในท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ และยังเป็นการสนับสนุนแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัด เป็นแบบอย่างให้จังหวัดมีกิจกรรมหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ขยายไปทั่วทุกจังหวัดในเครือข่าย และการจัดการด้านการตลาดของโครงการจะทำให้มีการรวมผลิตภัณฑ์จากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาอยู่ในโครงการอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โทร.279-8001,279-7937 และ 616-2270-1
โทรสาร 616-2272--จบ--
-อน-