กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--PC & Associates Consulting
ซิสโก้เผยรายงานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำกลางปี 2560 คาดการณ์การโจมตีรูปแบบใหม่ "Destruction of Servicec (DeOS)" มีการขยายตัวและส่งผลกระทบของภัยคุกคามเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมหลักต้องปรับปรุงการรักษาความปลอดภัย ขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีส่วนปฏิบัติการถูกรวมเข้าด้วยกัน
ซิสโก้ (NASDAQ: CISCO) เผยแพร่รายงานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำกลางปี 2560 (2017 Midyear Cybersecurity Report - MCR) ซึ่งระบุถึงพัฒนาการที่รวดเร็วของภัยคุกคามและการโจมตีหลากหลายรูปแบบที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังคาดการณ์เกี่ยวกับการโจมตีแบบ "Destruction of Service" (DeOS) ที่มุ่งเป้าไปที่การทำลายระบบเพื่อไม่ให้ผู้ถูกโจมตีสามารถกู้คืนระบบหรือกู้คืนข้อมูลได้ นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของ Internet of Things (IoT) ส่งผลให้อุตสาหกรรมหลักๆ ดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ช่องทางการโจมตีและผลกระทบจากภัยคุกคามเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เช่น กรณีของ WannaCry และ Nyetya แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและผลกระทบในวงกว้างของการโจมตี ซึ่งอาจดูเหมือนมัลแวร์เรียกค่าไถ่ทั่วไป แต่ที่จริงแล้วมีอานุภาพทำลายล้างเพิ่มขึ้นอย่างมาก กรณีดังกล่าวบ่งบอกถึงการโจมตีรูปแบบใหม่ที่ซิสโก้เรียกว่า Destruction of Service (DeOS) ซึ่งอาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงจนทำให้องค์กรธุรกิจไม่สามารถกู้คืนระบบที่ใช้ในการดำเนินงานได้เลย
Internet of Things ขยายโอกาสใหม่ๆ ให้แก่อาชญากรไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้การโจมตีทางไซเบอร์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การใช้บ็อตเน็ต IoT ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เผยให้เห็นว่า คนร้ายอาจกำลังวางรากฐานสำหรับการโจมตีทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้างจนอาจทำให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตหยุดชะงัก
การประเมินประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อรับมือกับการโจมตีเหล่านี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยซิสโก้ได้ทำการตรวจสอบติดตามความคืบหน้าในการลดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจจับภัยคุกคามหลังจากที่ถูกโจมตี หรือ "Time to Detection" (TTD) ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ จำเป็นที่จะต้องตรวจจับภัยคุกคามให้ได้เร็วที่สุด เพื่อจำกัดพื้นที่ปฏิบัติการของการโจมตี และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกเครือข่ายขององค์กร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา ซิสโก้สามารถลด TTD โดยเฉลี่ยจาก 39 ชั่วโมงให้เหลือเพียง 3.5 ชั่วโมงในช่วงระยะเวลาตั้งแต่พฤศจิกายน 2559 ถึงพฤษภาคม 2560 ตัวเลขนี้อ้างอิงข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากผลิตภัณฑ์ด้านการรักษาความปลอดภัยของซิสโก้ที่ติดตั้งไว้ภายในองค์กรต่างๆ ทั่วโลก
สถานการณ์ภัยคุกคาม: เทคนิคที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและลดลง
คณะนักวิจัยด้านความปลอดภัยของซิสโก้ได้เฝ้าดูพัฒนาการของมัลแวร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของเทคนิคการแพร่กระจาย การหลีกเลี่ยง และการบุกรุก กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงก็คือ ซิสโก้พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นที่ผู้โจมตีจะหลอกล่อให้เหยื่อคลิกที่ลิงค์หรือเปิดไฟล์เพื่อเรียกใช้งานมัลแวร์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนามัลแวร์แบบไม่มีไฟล์ที่ฝังตัวอยู่ในหน่วยความจำ และยากแก่การตรวจจับหรือตรวจสอบ เพราะมัลแวร์จะถูกลบออกเมื่อมีการรีสตาร์ทอุปกรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น คนร้ายพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ระบุตัวตนและไม่มีการรวมศูนย์ เช่น บริการพร็อกซี่ Tor เพื่อซ่อนเร้นกิจกรรมสั่งการและควบคุม
ซิสโก้พบว่าการใช้ชุดเครื่องมือเจาะระบบมีแนวโน้มลดลง ขณะที่วิธีการโจมตีแบบเดิมๆ เริ่มถูกนำกลับมาใช้:
• อีเมลสแปมมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากคนร้ายหันไปใช้วิธีการแบบเดิมๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้จริงอย่างเช่นอีเมล เพื่อแพร่กระจายมัลแวร์และสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม นักวิจัยด้านภัยคุกคามของซิสโก้คาดการณ์ว่าจำนวนอีเมลสแปมที่มีไฟล์แนบที่เป็นอันตรายจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ของชุดเครื่องมือเจาะระบบมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
• สปายแวร์และแอดแวร์ ซึ่งบุคลากรฝ่ายรักษาความปลอดภัยมักจะมองว่าสร้างความรำคาญมากกว่าที่จะก่อให้เกิดอันตราย เป็นรูปแบบของมัลแวร์ที่จะคงอยู่และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อองค์กร ซิสโก้ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย โดยสุ่มตัวอย่างบริษัท 300 แห่งในช่วงระยะเวลา 4 เดือน และพบว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างมีการติดเชื้อสปายแวร์ 3 สายพันธุ์หลัก ทั้งนี้ ในสภาพแวดล้อมขององค์กร สปายแวร์สามารถขโมยข้อมูลของผู้ใช้และข้อมูลของบริษัท ลดทอนสถานะความปลอดภัยของอุปกรณ์ และเพิ่มโอกาสในการติดมัลแวร์
• พัฒนาการของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ เช่น การเติบโตของบริการ Ransomware-as-a-Service เพิ่มความสะดวกให้แก่คนร้ายในการดำเนินการโจมตี ไม่ว่าคนร้ายจะมีความชำนาญมากน้อยเพียงใดก็ตาม มัลแวร์เรียกค่าไถ่ก่อให้เกิดข่าวคราวมากมายตามสื่อต่างๆ และมีการรายงานว่ามัลแวร์ประเภทนี้สร้างรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ให้แก่คนร้ายในช่วงปี 2559 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนสำหรับบางองค์กรที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่า แต่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าวคราวมากนัก นั่นคือ อีเมลเชิงหลอกลวงทางธุรกิจ หรือ Business Email Compromise (BEC) ซึ่งเป็นการโจมตีแบบวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) โดยมีการส่งอีเมลเพื่อล่อหลอกให้องค์กรโอนเงินให้แก่คนร้าย การโจมตีวิธีนี้สร้างผลตอบแทนให้แก่คนร้ายอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2556 ถึงธันวาคม 2559 มีการโจรกรรมเงินมากถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์ผ่านการโจมตีแบบ BEC ตามข้อมูลจากศูนย์ร้องเรียนอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต
อุตสาหกรรมต่างๆ เผชิญปัญหาความท้าทายร่วมกัน
ปัจจุบัน กลุ่มอาชญากรพัฒนาการโจมตีให้มีความซับซ้อนและรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องรับมือกับความท้าทายในการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐานเพื่อก้าวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology - IT) และเทคโนโลยีส่วนปฏิบัติการ (Operational Technology - OT) ผสานรวมเข้าด้วยกันบน Internet of Things องค์กรต่างๆ ก็ประสบปัญหาเรื่องความซับซ้อนของระบบและความสามารถในการตรวจสอบ ในการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัย (Security Capabilities Benchmark Study) ซิสโก้ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายรักษาความปลอดภัยเกือบ 3,000 คนใน 13 ประเทศ และพบว่าในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทีมงานด้านการรักษาความปลอดภัยต้องรับมือกับการโจมตีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายๆ องค์กรจำเป็นต้องใช้แนวทางการรักษาความปลอดภัยในลักษณะตั้งรับมากขึ้น
• มีองค์กรเพียง 2 ใน 3 ที่ดำเนินการตรวจสอบการแจ้งเตือนเรื่องความปลอดภัย และในบางอุตสาหกรรม (เช่น การแพทย์ และคมนาคมขนส่ง) ตัวเลขนี้อยู่ที่ระดับเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์
• แม้กระทั่งในอุตสาหกรรมที่มีการตอบสนองรวดเร็วที่สุด (เช่น การเงิน และการแพทย์) องค์กรธุรกิจก็สามารถป้องกันการโจมตีที่รู้จักได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
• กรณีการเจาะระบบก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เมื่อเกิดปัญหาการเจาะระบบขึ้น ก็จะมีการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยบางส่วนในองค์กรต่างๆ อย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ และในบางอุตสาหกรรม (เช่น คมนาคมขนส่ง) มีการตอบสนองที่รวดเร็วน้อยกว่า โดยอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ
ประเด็นสำคัญสำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีดังนี้:
• ภาครัฐ – ในบรรดาภัยคุกคามที่มีการตรวจสอบ 32 เปอร์เซ็นต์ถูกระบุว่าเป็นภัยคุกคามจริง แต่มีเพียง 47 เปอร์เซ็นต์ของภัยคุกคามจริงเท่านั้นที่ได้รับการแก้ไขในท้ายที่สุด
• ค้าปลีก – องค์กรธุรกิจ 2 ใน 3 สูญเสียรายได้เนื่องจากการโจมตีในช่วงปีที่ผ่านมา โดยราว 1 ใน 4 สูญเสียลูกค้าหรือโอกาสทางธุรกิจ
• การผลิต – 40 เปอร์เซ็นต์ของบุคลากรฝ่ายรักษาความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการผลิตระบุว่า ตนเองไม่มีกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยที่เป็นทางการ หรือไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศตามมาตรฐาน เช่น ISO 27001 หรือ NIST 800-53
• สาธารณูปโภค – บุคลากรฝ่ายรักษาความปลอดภัยระบุว่า การโจมตีแบบเจาะจงเป้าหมาย (42 เปอร์เซ็นต์) และภัยคุกคามขั้นสูงแบบต่อเนื่อง (Advanced Persistent Threat หรือ APT) (40 เปอร์เซ็นต์) เป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับองค์กร
• การแพทย์ – 37 เปอร์เซ็นต์ของสถานพยาบาลระบุว่า การโจมตีแบบเจาะจงเป้าหมายก่อให้เกิดความเสี่ยงในระดับที่สูงต่อองค์กร
คำแนะนำจากซิสโก้สำหรับองค์กรต่างๆ
เพื่อรับมือกับผู้โจมตีที่ใช้เทคโนโลยีก้าวล้ำเพิ่มมากขึ้น องค์กรต่างๆ จำเป็นที่จะต้องปรับใช้แนวทางเชิงรุกเพื่อป้องกันการโจมตี โดยกลุ่มธุรกิจการรักษาความปลอดภัยของซิสโก้มีคำแนะนำดังนี้:
• การดูแลโครงสร้างพื้นฐานและแอพพลิเคชั่นให้ทันสมัย เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายใช้ประโยชน์จากช่องโหว่หรือจุดอ่อนที่มีอยู่
• ลดความยุ่งยากซับซ้อนด้วยระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร จำกัดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ทำงานแยกออกจากกัน
• เปิดโอกาสให้ผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยง ผลตอบแทน และข้อจำกัดด้านงบประมาณอย่างรอบด้าน
• กำหนดดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน และใช้ดัชนีดังกล่าวเพื่อตรวจสอบและปรับปรุงแนวทางการรักษาความปลอดภัย
• ตรวจสอบการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยสำหรับพนักงาน โดยเปรียบเทียบระหว่างการฝึกอบรมตามหน้าที่การทำงาน กับการฝึกอบรมทั่วไปที่ใช้กับทุกคน
• สร้างสมดุลระหว่างมาตรการรักษาความปลอดภัยกับการตอบสนองที่ฉับไว อย่าใช้วิธี "ตั้งค่าครั้งเดียวและใช้งานได้ตลอด" สำหรับการควบคุมหรือกระบวนการด้านการรักษาความปลอดภัย
สำหรับรายงาน MCR ประจำปี 2560 มีการเชิญกลุ่มพันธมิตรด้านเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัย 10 รายให้เข้าร่วมแบ่งปันข้อมูล เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยคุกคาม พันธมิตรที่ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ได้แก่ Anomali, Flashpoint, Lumeta, Qualys, Radware, Rapid7, RSA, SAINT Corporation, ThreatConnect และ TrapX เครือข่ายพันธมิตรด้านเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของซิสโก้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในวิสัยทัศน์ของซิสโก้สำหรับการนำเสนอระบบรักษาความปลอดภัยที่เรียบง่าย เปิดกว้าง และทำงานแบบอัตโนมัติให้แก่ลูกค้า
คำกล่าวสนับสนุน
"การโจมตีที่เกิดขึ้นล่าสุด เช่น กรณีของมัลแวร์ WannaCry และ Nyetya แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนร้ายมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นในแง่ของการออกแบบวิธีการโจมตี ขณะที่องค์กรส่วนใหญ่ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยหลังจากที่เกิดปัญหา ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ยังคงต้องแข่งขันและรับมือกับผู้โจมตีอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยเริ่มต้นด้วยการปิดช่องว่างที่มีอยู่และทำให้การรักษาความปลอดภัยกลายเป็นภารกิจสำคัญของธุรกิจ"
นายสตีฟ มาร์ติโน รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยสารสนเทศของซิสโก้"ความยุ่งยากซับซ้อนยังคงเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความพยายามของหลายๆ องค์กรในการรักษาความปลอดภัย เห็นได้ชัดว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์แบบติดตั้งเฉพาะจุดที่ไม่สามารถผนวกรวมเข้าด้วยกันตลอดหลายปีที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้คนร้ายสามารถค้นพบจุดอ่อนที่ถูกมองข้ามหรือช่องโหว่ในการรักษาความปลอดภัยได้อย่างง่ายดาย เพื่อลดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจจับและจำกัดผลกระทบของการโจมตี แวดวงอุตสาหกรรมจำเป็นที่จะต้องปรับใช้แนวทางเชิงสถาปัตยกรรมแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบและจัดการอย่างทั่วถึง และช่วยให้ทีมงานฝ่ายรักษาความปลอดภัยสามารถแก้ไขปัญหาช่องว่างและจุดอ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
นายเดวิด ยูเลวิทช์ รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจการรักษาความปลอดภัยของซิสโก้
เกี่ยวกับรายงาน
รายงานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำกลางปี 2560 ของซิสโก้ตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลภัยคุกคามล่าสุดที่เก็บรวบรวมโดยหน่วยงาน Cisco Collective Security Intelligence รายงานฉบับนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและแนวโน้มทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในช่วงครึ่งแรกของปี พร้อมด้วยคำแนะนำที่ใช้งานได้จริงสำหรับการปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัย รายงานนี้อ้างอิงข้อมูลรายวันที่ได้รับจากระบบตรวจวัดระยะไกลที่ติดตั้งไว้อย่างกว้างขวางกว่า 4 หมื่นล้านจุด นักวิจัยของซิสโก้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวกรองที่ได้รับเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันแบบเรียลไทม์สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของเรา ซึ่งจะถูกจัดส่งในทันทีให้แก่ลูกค้าของซิสโก้ในทุกที่ทั่วโลก
ทรัพยากรสนับสนุน
วิดีโอการสนทนากับผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการรักษาความปลอดภัยของซิสโก้ สตีฟ มาร์ติโน: รายงานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำกลางปี 2560
รายงานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำกลางปี 2560 ของซิสโก้
บล็อกของซิสโก้: รายงานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำกลางปี 2560 ของซิสโก้ชี้ ภัยคุกคามก่อให้เกิดผลกระทบเพิ่มมากขึ้น
กราฟิกในรายงานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำกลางปี 2560 ของซิสโก้
ติดตามซิสโก้บน Twitter @CiscoSecurity
ถูกใจ Cisco Security บน Facebook
เกี่ยวกับ ซิสโก้
ซิสโก้ (NASDAQ: CSCO) เป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีที่ทำงานกับอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 บุคลากรของเรา ผลิตภัณฑ์ และ พันธมิตรช่วยเหลือสังคมเชื่อมต่อโอกาสทางดิจิตอลอย่างปลอดภัย ดูข่าวและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซิสโก้ได้ที่ newsroom.cisco.com และติดตามข่าวสารของซิสโก้บนทวิตเตอร์ที่ @Cisco
Cisco, the Cisco logo, Cisco Systems and Cisco IOS are registered trademarks or trademarks of Cisco Systems, Inc. and/or its affiliates in the United States and certain other countries. All other trademarks mentioned in this document are the property of their espective owners. The use of the word partner does not imply a partnership relationship between Cisco and any other company. This document is Cisco Public Information.
ประชาสัมพันธ์ข่าวโดย:
วราวอง จงรักษ์
โทรศัพท์: 02-971-3711
อีเมล์: warawong@pc-a.co.th