กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· การประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC เมื่อ 24 ก.ค. 60 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ที่ประชุมเห็นพ้องกันถึงความเป็นไปได้ในการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย หากไนจีเรียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 เดือนที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับลิเบียที่ประชุมยังไม่ได้จำกัดปริมาณการผลิตจนกว่าจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้สูงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างมีเสถียรภาพ (ลิเบียผลิตที่ 1.4-1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนเหตุการณ์ Arab Springในปี พ.ศ. 2554)
· รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบียระบุว่าปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 6.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเห็นว่าการปรับสมดุลของตลาดน้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะปริมาณสำรองน้ำมันดิบของประเทศกลุ่ม OECD ลดลงจากที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ปริมาณ 340 ล้านบาร์เรล ในเดือน ม.ค. 60 มาสู่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ปริมาณ 250 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.ค. 60
· กระทรวงพลังงานพลังงานของรัสเซียรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ เดือน มิ.ย. 60 ลดลง 5.3% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Energy Information Admiration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 21 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 483.4 ล้านบาร์เรล
· เมื่อวันที่ 30 ก.ค.60 ประชาชนเวเนซุเอลาประท้วงการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายค้านและประชาชนมองว่าเป็นการรวบอำนาจของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร หากเหตุการณ์ไม่สงบและบานปลายอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของประเทศที่เป็น Heavy Crude ขณะที่สหรัฐฯ สั่งให้เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ในเวเนซุเอลาเดินทางกลับประเทศทันที และประกาศมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของเวเนซุเอลา 13 คน เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชน
· วันที่ 28 ก.ค. 60 วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติยกระดับการคว่ำบาตร รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ โดยการคว่ำบาตรรัสเซียพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัสเซียที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2559 ขณะที่การคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือเพื่อตอบโต้โครงการนิวเคลียร์ของทั้งสองประเทศ
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอนสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 22,517 สัญญา มาอยู่ที่ 261,190 สัญญา สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 28 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น อยู่ที่ 766 แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 58
· บริษัท Louisiana Offshore Oil Port (LOOP) ผู้ประกอบการท่าขนส่งน้ำมันดิบเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ บริเวณ Gulf of Mexico ซึ่งปัจจุบันใช้เฉพาะการรับน้ำมันดิบเท่านั้น อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตส่งออกและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสามารถรองรับเรือ VLCC (ขนาด 2 ล้านบาร์เรล) ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเริ่มสูบถ่ายน้ำมันได้ต้นปี พ.ศ. 2561
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสัญญาส่งมอบน้ำมันดิบ หลังจากปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุด ลดลงกว่าคาดการณ์ และ ในช่วงสี่สัปดาห์ผ่านมาลดลงรวมเกือบ 26 ล้านบาร์เรล ประกอบกับซาอุดีอาระเบียมีแผนลดปริมาณการผลิตในเดือน ส.ค. 60 นอกจากนั้นการเมืองโลกตึงเครียด โดยเฉพาะในเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 60 สหรัฐฯ เปรู อาร์เจนตินา แคนาดา สเปน สาธารณรัฐคอสตาริกา และเม็กซิโก ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งคณะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสหรัฐฯ ประกาศกำหนดมาตรการคว่ำบาตร 6 บริษัท ภายใต้กลุ่มShahid Hemmat Industrial ที่เกี่ยวข้องกับโครงการขีปนาวุธของอิหร่านเมื่อ 28 ก.ค. 60 หลังจากอิหร่านประกาศ เมื่อ 27 ก.ค. 60 ว่าสามารถส่งจรวดขนส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าขัดกับมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (U.N. Security Council) ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถยึดทรัพย์สิน และห้ามไม่ให้เอกชนของสหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจกับกลุ่มบริษัทดังกล่าว อีกทั้ง สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-1B ความเร็วเหนือเสียง จำนวน 2 ลำ ไปยังบริเวณคาบสุมทรเกาหลี โดยมีเครื่องบินขับไล่ ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ร่วมขบวน เมื่อวันที่ 30 ก.ค.60 เพื่อกดดัน และตอบโต้ที่เกาหลีเหนือทดสอบจรวด Hwasong-14 ซึ่งอาจสามารถใช้ขนส่งขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile:ICBM) เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 60 และเรียกร้องให้จีนดำเนินการกดดันด้วย อย่างไรก็ตามด้านปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมัน EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2559 และในปี พ.ศ. 2561 จะอยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.00 -55.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.00 -52.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.50-52.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยสัปดาห์ก่อนปรับเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมัน Talin (กำลังการกลั่น 350,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท CPC ในไต้หวันมีแผนปิดหน่วย Residual Fluid Catalytic Cracking (RFCC : ขนาด 80,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.-15 ก.ย. 60 และ บริษัท Marathon Petroleum Corp. ปิดดำเนินการหน่วยผลิตน้ำมันเบนซิน : Fluid Catalytic Cracking Unit (ขนาด 55,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Texas City (กำลังการกลั่น 86,000บาร์เรลต่อวัน) รัฐเทกซัส สหรัฐฯอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. -1 ส.ค. 60 ด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.03 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.84 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 230.2 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม หน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินของจีนเดือน มิ.ย. 60 ลดลงจากปีก่อน 61.4 % มาอยู่ที่255,000 บาร์เรล ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.62 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.30 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวในกรอบ 63.50-67.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดีเซลในเชิงบวก
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยสัปดาห์ก่อนปรับเพิ่มขึ้นจากแรงซื้อเพื่อรองรับความต้องการน้ำมันดีเซลของจีนหลังประกาศห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ของจีนสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ส.ค. 60 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.14 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.94 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillate เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 149.6 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามอินเดียเริ่มลดการนำเข้าน้ำมันดีเซล และสลับมาเป็นผู้ออกประมูลขายในตลาดจร (Spot) เพิ่มขึ้นมาก หลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมทำให้ความต้องการใช้ในประเทศลดลง ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันBathinda (กำลังการกลั่น 230,000 บาร์เรลต่อวัน) ในรัฐปัญจาบจะกลับมาดำเนินการในเดือนนี้ และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.66 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.66 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวในกรอบ 62.50- 66.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล