กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้ภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ พบว่า "5 เหตุผลที่ชาวโซเชียลเขียนภาษาไทยผิด" คือ 1.เขียนได้ง่ายกว่าการเขียนตามหลักภาษาที่ถูกต้อง 2.ช่วยให้สื่อสารได้เร็ว 3.ลดความเป็นทางการในการสื่อสาร 4. ใช้ตามผู้อื่นคิด และ 5.เป็นการเข้ากับยุคสมัย
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นต่อการใช้ภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" สำรวจระหว่างวันที่ 21 ถึง 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,197 คน
ปัจจุบันการเขียนข้อความสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จัดเป็นกิจกรรมพื้นฐานสำหรับผู้คนทุกเพศทุกวัยทั้งกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน หรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากการติดต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกง่ายดายและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ประกอบกับผู้คนในปัจจุบันต้องการความรวดเร็วในการสื่อสาร ด้วยเหตุดังกล่าวผู้คนในปัจจุบันจึงนิยมเขียนข้อความสื่อสารกันผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์กันมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่พบเห็นกันโดยทั่วไปในการเขียนข้อความสื่อสารกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ คือ การใช้ภาษาไทยผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้อง ทั้งการใช้ตัวสะกดพยัญชนะผิด การใช้รูปวรรณยุกต์หรือรูปสระผิด เป็นต้น
โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยปรารภและแสดงความห่วงใยถึงการเขียนภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับนักวิชาการทางด้านภาษาหรือผู้คนทั่วไปได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้ภาษาในการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
ขณะเดียวกันมีผู้คนในสังคมอีกส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นว่าถือเป็นวิวัฒนาการทางภาษาอย่างหนึ่งในแต่ละยุคแต่ละสมัย ดังนั้น เนื่องในโอกาสใกล้วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในการประชุมวิชาการภาษาไทยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2505
สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้ภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.63 เพศชายร้อยละ 49.37 อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้
ในด้านการพบเห็นการเขียนภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องนั้น กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.19 ยอมรับว่าตนเองเคยพบเห็นผู้ที่เขียนข้อความภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องเป็นประจำ
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.81 ระบุว่าเคยพบเห็นบ้างเป็นบางครั้ง โดยกลุ่มตัวอย่างพบเห็นการเขียนภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ในส่วนที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องมากที่สุด 3 อันดับ คือ การใช้ตัวสะกดพยัญชนะผิดคิดเป็นร้อยละ 81.79 การใช้รูปสระผิดคิดเป็นร้อยละ 79.62 และการใช้รูปวรรณยุกต์ผิดคิดเป็นร้อยละ 76.94
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รู้สึกรำคาญใจเป็นอันดับแรกเมื่อพบเห็นการเขียนภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.62 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.12 และร้อยละ 10.44 รู้สึกเครียด/ปวดหัวเป็นอันดับแรกและรู้สึกโกรธ/โมโหเป็นอันดับแรกตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.02 มีความรู้สึกอื่นๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.8 รู้สึกเฉยๆ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.92 มีความคิดเห็นว่าการเขียนข้อความภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องส่วนมากเกิดจากความตั้งใจ
ในด้านพฤติกรรมการเขียนภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.85 ยอมรับว่าตนเองเคยเขียนข้อความภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องเป็นประจำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.85 ระบุว่าเคยเขียนผิดบ้างเป็นบางครั้ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.23 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยกลับมาแก้ไขข้อความภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เขียนผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องเลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.57 ระบุว่าตนเองกลับมาแก้ไขบ้างเป็นบางครั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 13.2 ระบุว่าตนเองกลับมาแก้ไขทุกครั้ง
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนเขียนภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ เขียนได้ง่ายกว่าการเขียนตามหลักภาษาที่ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 82.79 ช่วยให้สื่อสารได้เร็วคิดเป็นร้อยละ 80.53 ลดความเป็นทางการในการสื่อสารคิดเป็นร้อยละ 76.69 ใช้ตามผู้อื่นคิดเป็นร้อยละ 72.43 และเป็นการเข้ากับยุคสมัยคิดเป็นร้อยละ 70.93
ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์กับการเขียนภาษาไทยอย่างถูกต้องนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.48 มีความคิดเห็นว่าการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นส่งผลทำให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเขียนภาษาไทยผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องมากกว่าในอดีต ขณะที่ร้อยละ 59.32 มีความคิดเห็นว่าการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นมีส่วนทำให้ผู้คนลดความเอาใจใส่ในการเขียนภาษาไทยอย่างถูกต้องลงไป
แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.82 มีความคิดเห็นว่าการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นมีส่วนช่วยให้ผู้คนสามารถเรียนรู้การเขียนภาษาไทยที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.64 มีความคิดเห็นว่าการเขียนข้อความภาษาไทยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ผิดไปจากหลักภาษาที่ถูกต้องส่งผลให้เกิดวิวัฒนาการในการใช้ภาษาไทยขึ้นได้ เช่น การเกิดคำใหม่ในภาษา