กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและ เพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิรลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยรับฟังบรรยายสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกียวข้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ การเพาะปลูก การเติมน้ำลงเขื่อนลำตะคอง และโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชฯ ก่อนจะทำพิธีเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชฯ และมอบเมล็ดพันธุ์พืชให้กับ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ พร้อมเยี่ยมชมจุดปั้นเมล็ดพันธุ์ โดยความร่วมมือจากกำลังพลของกองทัพบก ประชาชน และอาสาสมัครฝนหลวง
พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศหลังการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันในพื้นที่แหล่งต้นน้ำภายใต้แนวคิด "9 สัปดาห์ สู่วันมหามงคล" ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำงานเชิงบูรณการที่มีผลดีต่อระบบนิเวศและการทำฝนหลวง เนื่องจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ต้นทุนในการให้กำเนิดความชื้นที่จะก่อตัวเป็นเมฆและตกเป็นฝนกลับสู่พื้นที่ป่าที่เป็นต้นน้ำ ไหลลงสู่พื้นที่การเกษตรและแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติหรืออ่างเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป และเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28กรกฎาคม 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด "9 วัน สู่วันมหามงคล 65 วันสืบสานพระราชปณิธาน" เพื่อเป็นการคืนผืนป่าเพื่อสานต่อพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และเพิ่มความชื้นให้กับพื้นที่ป่า สร้างความสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ ที่ทุกฝ่ายตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำและน้อมนำแนวพระราชดำริศาสตร์พระราชา มาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับในส่วนของพื้นที่แหล่งต้นน้ำ โดยเฉพาะบริเวณเขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 12 ก.ค. 60 มีน้ำ 78 ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำใช้การได้ 55 ล้าน ลบ.ม.) จากความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งถือว่าน้อยมาก อาจจะกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้ ขณะที่เขื่อนลำพระเพลิง ซึ่งอยู่ใกล้กัน ณ วันที่ 12 ก.ค. 60 มีน้ำ 98ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำใช้การได้ 97 ล้าน ลบ.ม.) จากความจุ 155 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 จึงได้มีการสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรและกรมชลประทาน ประสานการทำงานร่วมกันโดยมีการปรับแผนการบินปฏิบัติการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องน้ำของพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เขื่อนลำตะคอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 9 กรกฎาคม 2560 โดยมีการระดมสรรพกำลังที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมาและบูรณาการร่วมกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรีทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 26.99 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำจากการปฏิบัติการฝนหลวง 6.12 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะยังคงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
"จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ในช่วงปลาย 2560 แต่ในขณะนี้คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องเก็บน้ำในเขื่อนเพื่อให้มีความมั่นคงด้านน้ำให้มากที่สุด จึงได้สั่งการให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนลำตะคองจนกว่าจะมีน้ำต้นทุนที่มั่นคงขึ้น ประมาณร้อยละ 70 คือ 220 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วงที่เครื่องบินกลับจากการปฏิบัติการฝนหลวง ได้ใช้โอกาสนี้โปรยเมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ในป่าต้นน้ำต่างๆ ทำให้เกิดป่าต้นน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้เพียงพอต่อการปฏิบัติการฝนหลวง และ ยังเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่า ซึ่งการดำเนินการในปีที่ผ่านมาพบอัตราการรอดของต้นไม้ถึง 40%"พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชให้มีความพร้อมในการโปรยจากเครื่องบินฝนหลวงนั้น จำเป็นต้องห่อหุ้มด้วยดินที่มีสารอาหารและความชื้นที่จำเป็นต่อเมล็ดพันธุ์ในช่วงที่ตกถึงพื้นดินในช่วงแรก จึงได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงการในระยะที่ 1 คือการปั้นเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา มณฑลทหารบกที่ 31 จังหวัดนครสวรรค์ และมณฑลทหารบกที่ 15 จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับใช้โปรยในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีชนิดเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้รวม 14 ชนิด ที่จะใช้โปรยในพื้นที่เป้าหมายตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดให้ทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คือ
- ภาคกลาง โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ กัลปพฤกษ์ กาฬพฤกษ์ ขี้เหล็ก แดง พฤกษ์ มะค่าแต้ ราชพฤกษ์ (คูน) สาธร (กระเจาะ) สีเสียด (สีเสียดแก่น) อะราง (นนทรีป่า) และมะค่าโมง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไผ่รวกและพะยูง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
- ภาคใต้ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ประดู่ (ตีปีก) และมะค่าโมง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
อย่างไรก็ตาม จะมีการประเมินผลโครงการฯ ในปี 2560 ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2560 โดยแบ่งการประเมินผลเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ในแปลงทดลอง (Field Test)ซึ่งเป็นการทดสอบอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์จากการนำเมล็ดพันธุ์ที่ปั้นเพื่อใช้ในการโปรย มาทดสอบโดยใช้แปลงทดลองเสมือนจริง บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่จริง โดยทำแปลงทดลองทั้งหมด 3 สถานที่ และใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการโปรยในแต่ละพื้นที่ และการประเมินอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์จากพื้นที่จริง (Field Survey) โดยทีมลาดตระเวนของกรมอุทยานฯ อีกด้วย