กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ชนะโรคหัวใจและอุบัติเหตุ สถิติที่เพิ่มขึ้นแสดงว่าการรักษามาตรฐานแบบเดิมไม่ทันโรค แพทย์เผยยากระตุ้นภูมิคุ้มกันช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งรอดชีวิตมากขึ้น!!!
แม้ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากมาย เรารู้จักสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่ควรหลีกเลี่ยง แต่พบว่าผู้ป่วยมะเร็งกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ชนะโรคหัวใจ และอุบัติเหตุ พบคนไทยเป็นมะเร็งจำนวนมากเหตุผลสำคัญ ร้อยละ 85 เพราะทำตัวเอง เช่น นอนดึก รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง ปล่อยให้อ้วน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีเพียงร้อยละ 5-15 เท่านั้นที่มีมรดกมะเร็งหรือยีนก่อมะเร็งจากบรรพบุรุษ
ในงานเสวนา นวัตกรรมต้านมะเร็งแบบ สู้ ซ่อม สร้าง วิทยากร รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ จากหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "เราจะเห็นว่าคนบางกลุ่มมีพฤติกรรมเสี่ยงแต่ไม่เป็นมะเร็ง ในทางกลับกันคนบางกลุ่มที่ดูแลสุขภาพดีกลับกลายเป็นมะเร็ง สาเหตุ คือ ร่างกายรับสารก่อมะเร็ง บวกกับที่ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถกำจัดเซลล์แปลกปลอมได้ จึงกลายเป็นมะเร็งในที่สุด สิ่งสำคัญอยู่ที่ภูมิคุ้มกันนั่นเอง"
มะเร็งมีลักษณะจำเพาะหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ "ภูมิคุ้มกันต่ำ" เนื่องจากร่างกายเรามีเซลล์กลายพันธุ์ตลอดเวลา เราต้องอาศัยภูมิคุ้มกันในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไปให้ได้ ถ้าภูมิคุ้มกันไม่มีประสิทธิภาพก็จะกลายเป็นมะเร็ง นอกจากนี้ เมื่อเป็นมะเร็งแล้ว สิ่งที่มะเร็งทำคือ ทำลายภูมิคุ้มกัน โดยปล่อยสารและมีกลไกต่างๆ ที่มายับยั้งภูมิคุ้มกันเพื่อให้ภูมิบกพร่อง ช่วยให้มะเร็งเติบโตได้
รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า "น่าเสียดาย ในขณะที่ภูมิคุ้มช่วยชีวิตเราไว้ แต่เรามักไม่ค่อยได้ดูแลภูมิคุ้มกัน บางครั้งก็ทำร้ายภูมิคุ้มกัน เช่น เมื่อเป็นมะเร็งก็ให้ยาเคมีบำบัดแบบรุนแรง ในบางรายโรคตอบสนองดีก็หายขาด แต่ถ้าโชคไม่ดีมะเร็งดื้อยาก็จะทำลายภูมิคุ้มกัน รังสีรักษาก็ทำลายภูมิคุ้มกันให้ลดลง เมื่อเสียภูมิคุ้มกันมากสุดท้ายผู้ป่วยอาจเสียชีวิต"
ภูมิคุ้มกันมีหลายชนิด แต่ 3 ทหารเสือสำคัญที่ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยชีวิตผู้มะเร็ง ได้แก่ T-Lymphocyte (T-cell) ทีเซลล์ที่ทำหน้าที่ต่อสู้ทำลายมะเร็งแบบต้องอาศัยตัวช่วย Natural Killer Cell (NK cell) เป็นเซลล์เพชฌฆาตธรรมชาติ ด่านแรกที่เจอเซลล์มะเร็งจะเข้าทำลายทันที และ Dendritic Cell หรือเซลล์ชี้เป้า เนื่องจากมะเร็งเกิดจากเซลล์ร่างกาย ลักษณะดีเอ็นเอจะเหมือนกับเซลล์ร่างกาย 80%-90% แยกแยะไม่ได้ว่าเซลล์ไหน คือ มะเร็ง เซลล์ชี้เป้าจึงรับหน้าที่นี้
ด้วยหน้าที่ความสามารถของระบบภูมิคุ้มกัน ทางการแพทย์จึงนำหลักการดังกล่าวมาพัฒนาเป็นวิธีการที่เรียกว่า "ภูมิคุ้มกันบำบัด" ใช้ยาหรือวัคซีนเข้าไปกระตุ้นเยียวยาให้ภูมิคุ้มกันร่างกายมีประสิทธิภาพ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น
เมื่อร้อยกว่าปีก่อน หลักการภูมิคุ้มกันบำบัดเริ่มมีคนใช้แล้ว โดยการเอาเชื้อโรคฉีดเข้าไปในก้อนมะเร็งพบว่าทำให้มะเร็งยุบตัวได้ ซึ่งตอนนี้เราทราบแล้วว่าสิ่งที่ทำให้มะเร็งยุบตัวไม่ใช่เชื้อโรค แต่เป็นพิษของเชื้อโรค โดยพิษไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แล้วภูมิคุ้มกันนั่นเองที่มาทำลายมะเร็ง
เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว มียาที่เป็นภูมิคุ้มกันบำบัดตัวแรกของโลกที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาอเมริกา เป็นยากระตุ้น Dendritic cells หรือเซลล์ชี้เป้า ชื่อยา Sipuleucel โดยเอาเซลล์คนไข้ไปเลี้ยงในหลอดทดลอง แล้วแยกเซลล์ชี้เป้าออกมา ใส่โปรตีนที่จำเพาะกับมะเร็งที่เรียกว่า prostatic acid phosphatase เข้าไปแล้วขยายปริมาณ แล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกาย เมื่อเจอมะเร็งก็จะทำลายมะเร็งแบบจำเพาะ ยาตัวนี้ใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
ต่อมามีวัคซีนชื่อ อิพิลิมูแมบ (Ipilimumab) โดยปกติมะเร็งอยู่ได้ด้วยการไปยับยั้งภูมิคุ้มกัน วัคซีนนี้ช่วยยับยั้งตัวยับยั้ง จึงเป็นการกระตุ้นทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกายตื่นจากหลับใหล ทำให้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้น
วัคซีนชื่อ เพมโบรลิซูแมบ (Pembrolizumab) ตัวนี้ช่วยยับยั้ง PD-1 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อยับยั้ง PD1 ได้ T-cell ร่างกายก็ตื่นตัว เข้าไปต่อสู้ทำลายเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งวัคซีนตัวนี้ปัจจุบันใช้ในมะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง
ยังมีวัคซีนชื่อ นิโวลูแมบ (Nivolumab) ตัวนี้ช่วยยับยั้ง PD-1 เช่นกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาจัดการกับมะเร็ง ใช้ในมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็วผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งไต และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ปัจจุบันภูมิคุ้มกันบำบัดกลายเป็นวิธีการรักษามะเร็งมาตรฐาน ยาหลายตัวได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาประเทศไทยแล้ว ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งเพื่อเข้าถึงยากลุ่มดังกล่าว