กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
มท.1 สั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจังหวัดที่ยังมีน้ำท่วมขังให้เชื่อมโยงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ในช่วงที่ไม่มีฝนตก ลงมาเพิ่ม พร้อมประสาน 4 จังหวัดท้ายเขื่อนลำปาว ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี เตรียมพร้อมรับมือมวลน้ำจากการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว โดยบูรณาการเคลื่อนย้ายกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปประจำพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำให้ติดตาม สถานการณ์น้ำ และประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อลดกระทบจากอุทกภัยให้มากที่สุด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย บางจังหวัดที่มีน้ำท่วมขังระดับน้ำเริ่มลดลง ประกอบกับจากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง จึงได้สั่งกำชับให้หน่วยปฏิบัติประสานการเชื่อมโยงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยระดมเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล เครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกสู่ลำน้ำสาขาไปยังลำน้ำสายหลักในช่วงที่ไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับกรมชลประทาน พบว่า มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาวจำนวนมาก ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำออกจาก เขื่อนลำปาว ประกอบกับมีการระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังลงสู่ลำน้ำสายหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้าย เขื่อนลำปาวใน 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดพื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาวทั้ง 4 จังหวัด เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลเข้าสู่พื้นที่ รวมถึงระดมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที เพื่อคลี่คลายสถานการณ์อุทกภัยโดยเร็ว และให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ได้สั่งการหน่วยปฏิบัติ ในพื้นที่ โดยเฉพาะศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 7 สกลนคร และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 13 อุบลราชธานี เตรียมพร้อมรับมือมวลน้ำที่จะไหลเข้าสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาว โดยติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง บูรณาการการเคลื่อนย้ายกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปประจำพื้นที่เสี่ยงภัยในการปฏิบัติการพร่องน้ำ จัดทำแนวคันกั้นน้ำล้อมรอบสถานที่สำคัญ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ผลักดันน้ำให้ลงสู่ลำน้ำสายหลักโดยเร็ว พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ ให้ติดตามสถานการณ์น้ำ และประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชี ความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ รวมถึงวางแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สำหรับการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าจัดการศพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป