"แฟมิลี่ ดีซีส" โรคขาดจิตวิญญาณ……โรคสมัยใหม่ของคนไทยยุคนี้

ข่าวทั่วไป Tuesday May 16, 2000 18:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.---พีอาร์ เน็ตเวิร์ต์
ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย จากยุคเกษตรกรรม สู่อุตสาหกรรม และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลสารสนเทศ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันครอบครัว จากฐานสังคมเกษตร ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบ้าน มีวัฒนธรรมแห่งความเอื้ออาทร ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น การพี่งพาอาศัยกัน ความผูกพันรักใคร่เมตตา และการเชื่อฟังผู้ใหญ่ กตัญญูกตเวทิตา ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นสังคมแบบอุตสาหกรรม มีความเป็นเมืองเศรษฐกิจ เมืองธุรกิจ และวิถีชีวิตครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวเล็กอยู่คนเดียวหรือไม่กี่คน ทุกคนต้องห่างไกลญาติพี่น้องพ่อแม่ ต้องพึ่งพาตัวเอง และใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมัน ปรากฏการณ์นี้จึงเกิดโรคสมัยใหม่ในครอบครัว ที่เรียกว่า โรคแฟมิลี่ดีซีส ซึ่งศจ.นพ.เกษม วัฒนชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้ข้อเท็จจริงที่น่าวิตกว่า
"สังคมไทยปัจจุบัน เกิดโรคสมัยใหม่ที่เรียกว่า โรคครอบครัวหรือโรคขาดจิตวิญญาณ ผมมีประสพการณ์นาน 14 ปีจากการออกหน่วยกลุ่มประชาอาสาเพื่อสนับสนุนโครงการหลวง ซึ่งมีนายแพทย์หลายสาขามากกว่า 20 คนได้เดินทางไปยังชนบทหลายจังหวัดในภาคเหนือ และภาคกลาง เราพบความจริงว่า มีคนเป็นจำนวนมาก มีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจมากกว่าทางกาย เช่นเป็นโรคนอนไม่หลับ กินไม่ได้ ซูบผอม ซึมเศร้า ส่วนมากเป็นคนแก่ ซึ่งไม่ได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน เพราะอยู่ไกลกัน บางรายไม่มีแรง เจ็บป่วย แต่เราก็ไม่พบอาการที่เกิดจากสาเหตุของร่างกายเลย "
"มีอยู่รายหนึ่ง ที่ผมพบที่เขตสำโรง เมื่อเดือนที่แล้ว ผมตรวจร่างกายแล้วไม่พบโรคอะไรเลย เมื่อสอบถามถึงลูกหลานว่า อยู่ที่ไหน มาเยี่ยมบ้างมั้ย เขาตอบว่า มาปีละ1 ครั้ง อยู่ใกล้กันแค่นี้ เห็นหน้าลูกปีละ ครั้งผมว่าน่าสงสารมากครับ คนเราเริ่มรู้สึกว่า ชีวิตนี้มันไม่มีความหมายเลย"
"ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจในระยะ 30-40 ปีมานี้เอง ทำให้สายใยทีเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่แน่นแฟ้น ได้ถูกตัดขาด ส่งผลให้เกิดปัญหาในครอบครัวถึงคน 3 รุ่น คือ
1.เด็กขาดความอบอุ่น เด็กอยู่กับพ่อแม่ซึ่งมีสถิติการหย่าร้างสูงมาก ทัศนคติของคนสมัยนี้ถือว่า การหย่าร้างเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน เด็กเหล่านี้จึงกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อหรือกำพร้าแม่ ขาดความอบอุ่นถึง 2 รุ่น คือ พ่อแม่หรือเด็ก
2.พ่อแม่ที่ขาดความอบอุ่น ต้องตกอยู่ในความทุกข์ระทม การมีชีวิตที่เคยพึ่งพาอาศัยกัน ก็ไม่สามารถมีได้ ต้องพึ่งตัวเอง เมื่ออีกฝ่ายแยกทางไป พ่อหรือแม่ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูลูก บางทีต้องททิ้งลูกไว้กับคนใช้ คนข้างบ้าน สถานรับเลี้ยงเด็ก บางคนถูกขโมยเอาลูกไปขายก็มี
3.ปู่ย่าตายายที่ขาดความอบอุ่น คนสมัยใหม่หลงลูกจนลืมพ่อแม่ พ่อแม่หลายคนปรนเปรอลูกอย่างเต็มที่เพื่อชดเชยเวลาที่ไม่มีให้ลูก ในหนึ่งสัปดาห์ต้องทำงาน 5-6 วัน มีเพียงวันหรือวันครึ่งให้แก่ลูก ก็ต้องพยายามชดเชยวัตถุแทน ต้องคอยถามลูกว่า ลูกอยากได้อะไร แม่จะซื้อให้ เสาร์อาทิตย์ต้องพาลูกไปศูนย์การค้า 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ก็หมดไปแล้ว ไม่มีเวลาให้แก่ปู่ย่าตายาย
ภาวะทางจิตใจของคนเป็นปู่ย่า ที่ลูกหลานอยู่ห่างไกล ทำให้ตัวเองรู้สึกไร้คุณค่า ขาดจิตวิญญาณ ซึมเศร้า หดหู่ สภาพนี้ทำให้ผมคิดถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อสมัยผมเคยเป็นหมอที่นั่น ตำรวจเจอใครตายก็ส่งให้หมอเป็นผู้วินิจฉัย ชันสุตรและลงความเห็นว่า ตายแล้ว ผมพบคนแก่บางคนเป็นศพเน่าเละมาหลายวันแล้ว เพราะแกตายอยู่คนเดียวในอพาร์ทเมนท์มานาน ไม่มีญาติรู้ เรื่องเลย เพราะถูกทอดทิ้งมานาน หรือคนแก่ที่อยู่โรงพยาบาลก็ไม่มีใครมาเยี่ยมเลย เมื่อเขาได้รับการ์ดจากลูกหลาน เขาดีใจมากเอามาอวดหมอ ผมกลัวว่าคนไทยจะตกอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาอย่างนั้นครับ
"ผมคิดว่า เราต้องดึงวัฒนธรรมไทยกลับมา เราต้องสร้างจิตสำนึกกันใหม่ รณรงค์ให้เป็นกระแสการกู้คืนสภาพครอบครัว และคืนความสัมพันธ์ที่ดีกลับคืนมา เราต้องทำแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกหลาน เราต้องคิดว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นคนแก่ ถ้าเราไม่ดูแลพ่อแม่ ไม่ทำให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่มีความสำคัญ ไม่พาลูกๆไปเยี่ยมพ่อแม่ เ มื่อถึงวันหนึ่งที่เขาเป็นพ่อแม่ เขาก็ทอดทิ้งเราเช่นกัน เราต้องสร้างธรรมนิยมให้เกิดขึ้นในสังคม ต้องเรียกร้องการสร้างความอบอุ่น สร้างกติกาในครอบครัว ต้องมีคนคอยเตือน คอยกระแทกให้เราสำนึกถึงความดีงามถูกต้อง เราต้องยกย่อง ครอบครัวตัวอย่าง ช่วยเป็นที่ปรึกษาให้แก่ครอบครัวที่มีปัญหา ช่วยกู้สถาบันครอบครัวให้กลับคืนมา"
ถ้าสถาบันครอบครัว เข้มแข็ง สังคมไทยดีขึ้นแน่นอน เราต้องช่วยกันครับ--จบ--
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณ เกษราภรณ์ อึ่งสกุล ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ กัญญารัตน์ อึ่งสกุลฝ่ายประชาสัมพันธ์ชัชรี หิรัญโร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร.641-2871-8 , (01)344-9149 FAX.641-2890--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ