กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี
จากอิทธิพลของพายุ "เซินกา" ทำให้มีฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วันที่ผ่านมา หลายจังหวัดภาคอีสานเกิดน้ำป่าและแม่น้ำโขงไหลเอ่อท่วมบ้านเรือน ไร่นาชาวบ้าน ซึ่งบางจุดท่วมสูงถึง 1 เมตร ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก แนะ ประชาชนในพื้นที่เตรียมการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม
นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี และมุกดาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบหนัก ขอแนะนำประชาชนในพื้นที่เตรียมการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมที่สำคัญ คือ โรคน้ำกัดเท้า ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ ล้างเท้าให้สะอาด แล้วเช็ดให้แห้งหลังลุยน้ำ โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่บ่อยๆ ให้ดื่มน้ำที่สะอาด เลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ หรืออุ่นให้ร้อน และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด อาหารกล่องที่ได้รับแจก ควรรับประทานทันทีอย่าเก็บไว้ เพราะจะทำให้อาหารบูดเน่าได้ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแห้ง ให้ตรวจสภาพและวันหมดอายุก่อน หากมีลักษณะผิดปกติหรือหมดอายุให้ทิ้ง
โรคฉี่หนูหลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนาน ๆ หากจำเป็น ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ให้เรียบร้อย เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น และไม่สวมเสื้อผ้าเปียกชื้น หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับ ผู้อื่น และควรสวมหน้ากากอนามัยเวลาไอจาม โรคตาแดง ถ้ามีน้ำสกปรกเข้าตาหรือสัมผัสตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันทีอย่าปล่อยให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา และไม่ควรขยี้ตา หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อย ๆ และดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ
นอกจากนี้ การเสียชีวิตจากการจมน้ำ ห้ามดื่มสุรารวมถึงงดออกหาปลา เก็บผัก และเล่นน้ำในบริเวณน้ำลึกและเชี่ยว ให้สวมเสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ และให้เดินทางเป็นกลุ่ม ไฟดูดไฟช็อต ให้ตัดวงจรไฟฟ้าในชั้นที่น้ำท่วมไม่ถึง ยกเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง ย้ายปลั๊กไฟให้พ้นน้ำ หากยืนในน้ำ ต้องไม่จับเครื่องใช้ไฟฟ้าและให้อยู่ห่างเสาไฟ สัตว์มีพิษและของมีคม เก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน ให้เป็นระเบียบ ป้องกันสัตว์มีพิษและอุบัติเหตุจากของมีคม หากน้ำยังท่วมไม่ถึงบ้าน ให้โรยปูนขาวล้อมรอบบ้าน จะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษมิให้เข้ามาในบริเวณบ้านได้ กรณีน้ำท่วมเข้าบ้านแล้ว ให้ใช้น้ำมันก๊าดราดบริเวณรอบที่ พักอาศัย จะทำให้สัตว์ไม่เข้ามาอาศัยอยู่ พร้อมเตรียมยาฆ่าแมลงไว้ฉีด
สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เกิดภัย ขอให้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศประกาศแจ้งเตือนภัย ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค และให้เตรียมวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่นแกลลอนพลาสติก ขวดน้ำ พลาสติก ลูกมะพร้าว ยางในรถยนต์ สำหรับใช้เกาะพยุงตัวขณะลุยน้ำท่วม หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 / นางศุภศรัย กล่าวปิดท้าย