กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค
รายงานฉบับล่าสุดจากฟูจิตสึภายใต้หัวข้อ 'เส้นทางสู่การเรียนรู้แบบดิจิตอล' (The Road to Digital Learning) ระบุว่า การปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิตอล (Digitalization) ส่งผลให้ภาคการศึกษาจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาจำนวนมากยังคงประสบปัญหาในการพัฒนาเพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงนี้ รายงานดังกล่าวให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ของระบบการศึกษาดิจิตอลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็น(1*) ของผู้บริหารฝ่ายไอทีกว่า 600 คนในโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยใน 7 ประเทศ
แม้ว่าสถานศึกษาจะมีความมุ่งหวังที่สูงมากสำหรับการใช้โซลูชั่นดิจิตอลเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ให้เป็นแบบอินเทอร์แอคทีฟ สอดรับกับผู้เรียนแต่ละคน และรองรับการประสานงานร่วมกันเพิ่มมากขึ้น แต่สถานศึกษาหลายแห่งบอกกับฟูจิตสึว่าการพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากความซับซ้อนของงาน อีกทั้งระบบไอทีที่มีอยู่ก็ล้าสมัย และยังขาดแคลนทรัพยากรอีกด้วย สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมที่จะลงทุนในเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ เช่น แอพด้านการศึกษาบนระบบคลาวด์ เทคโนโลยี Virtual Reality หรือ Augmented Reality อย่างไรก็ดี สถานศึกษาเหล่านี้ตระหนักถึงความจำเป็นในการวางรากฐานที่แข็งแกร่งและเหมาะสม และแก้ไขปัญหาช่องว่างด้านทักษะของบุคลากร
สถานศึกษาส่วนใหญ่ทราบถึงบทบาทของเทคโนโลยีในปัจจุบันสำหรับการส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนและการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดย 94 เปอร์เซ็นต์คิดว่าการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (personalized learning) เป็นสิ่งที่ 'สำคัญ' หรือ 'สำคัญอย่างมาก' และ 84เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนสำหรับอนาคตในยุคดิจิตอล ขณะเดียวกัน สถานศึกษาได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นในการตอบสนองต่อความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษา ควบคู่ไปกับการรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ทั้งนี้ กว่า 3 ใน 4 (77 เปอร์เซ็นต์) ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญด้านดิจิตอลในอีก 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ในสถานศึกษาหลายแห่ง การเรียนรู้ผ่านระบบดิจิตอลยังคงห่างไกลความเป็นจริง โดย 87 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนประถมและมัธยมยังคงไม่มีการจัดหาอุปกรณ์ให้แก่นักเรียน และในบางโรงเรียนที่มีการจัดหาอุปกรณ์ ก็พบว่าอุปกรณ์หนึ่งเครื่องรองรับการใช้งานของนักเรียน 3 คนโดยเฉลี่ยอาจารย์ประสบปัญหาในการก้าวให้ทันกับนักเรียนนักศึกษาที่ชำนาญการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล
แม้ว่าสถานศึกษาจะตั้งเป้าหมายไว้สูงมากสำหรับการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิตอล แต่กว่าครึ่งหนึ่ง (51 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะผู้บริหารสถานศึกษามีปัญหาท้าทายมากมายที่จะต้องจัดการ รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างนักเรียนนักศึกษาที่ชำนาญการใช้เทคโนโลยี กับอาจารย์ผู้สอนที่มีความชำนาญเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอลน้อยกว่า ขณะที่กว่าครึ่งหนึ่ง (54 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่านักเรียนและนักศึกษามีความรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิตอลในระดับ 'ดีเยี่ยม' หรือ 'ดี' แต่ 91 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าการปรับปรุงทักษะด้านดิจิตอลสำหรับอาจารย์ผู้สอนถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่อาจารย์เพื่อปรับใช้แนวทางและโซลูชั่นด้านการเรียนการสอนผ่านระบบดิจิตอล รวมไปถึงเครื่องมือต่างๆ ที่รองรับ เช่น เทคโนโลยีคลาวด์
นอกจากนี้ สถานศึกษาจำนวนมากยังประสบปัญหาท้าทายที่ซับซ้อนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเชื่อมต่อเครือข่ายที่มีคุณภาพต่ำ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ล้าสมัยและไม่เหมาะสม ซึ่งสร้างปัญหาชวนปวดหัวให้แก่ฝ่ายไอทีในสถานศึกษาหลายแห่ง อีกทั้งยังต้องจัดหาอุปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐาน และแอพที่ทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (46 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าสถานศึกษาของตนเองมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการรองรับเป้าหมายการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิตอล แต่ขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาต่างๆ เช่น อุปกรณ์ได้รับความเสียหายอย่างง่ายดายจากการใช้งานของนักเรียน/นักศึกษา และไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยหรือมีอยู่ในระดับที่จำกัด
การสร้างสมดุลระหว่างระดับของการเข้าใช้งานและความปลอดภัยถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับ 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารฝ่ายไอทีในแวดวงการศึกษา และสถานศึกษาเกือบ 9 ใน 10 แห่งตระหนักถึงความจำเป็นในการมุ่งเน้นการตรวจสอบหรือปรับปรุงเสถียรภาพและความแข็งแกร่งของอุปกรณ์และระบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม งบประมาณและทรัพยากรด้านไอทีที่จำกัดเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการดำเนินการของสถานศึกษากว่าครึ่งหนึ่ง (54 เปอร์เซ็นต์) ปัจจุบันงบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการวางรากฐาน ตัวอย่างเช่น 87 เปอร์เซ็นต์ต้องการลงทุนในระบบเครือข่ายไร้สายในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
แอช เมอร์ชานท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของฟูจิตสึ กล่าวว่า "เทคโนโลยีดิจิตอลมอบโอกาสมากมายสำหรับการศึกษา เช่น การเรียนรู้ที่สอดรับกับผู้เรียนมากขึ้น การประเมินความคืบหน้าของผู้เรียน การเรียนรู้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลา การเข้าถึงทรัพยากรเพิ่มเติม และการประสานงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง ความสามารถในการเชื่อมต่อ ความเรียบง่าย และความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ผลการสำรวจของเราชี้ให้เห็นว่า สถานศึกษาหลายแห่งกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ และโดยมากแล้วมักจะประสบปัญหาท้าทายเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็น และการผลักดันโครงการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิตอลด้วยการนำเสนอข้อมูลผลตอบแทนการลงทุนที่ชัดเจน เราต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือแก่สถานศึกษาด้วยการขจัดปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การจัดหาเทคโนโลยีและอุปกรณ์เท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอาจารย์และนักเรียน/นักศึกษาเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาสำหรับการทำงานในยุคดิจิตอล ที่ฟูจิตสึ เราเชื่อมั่นว่าหากเราต้องการที่จะเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนสำหรับอนาคตในยุคดิจิตอล เราจะต้องแก้ไขปัญหาช่องว่างเกี่ยวกับการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิตอล และเราจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนร่วมมือกัน และจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องระหว่างภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและภาคการศึกษา"