กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ไอเดียเวิร์คส์คอมมิวนิเคชั่นส์
"โอกาส" เมื่อมีเข้ามาก็ต้องรีบคว้าไว้ เช่นเดียวกับ น้องๆ ทีม WELSE อีกกลุ่มเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ชนะการแข่งขันเวที Imagine Cup Thailand 2017 จากการนำเสนออุปกรณ์ IoT แบบพกพาสำหรับการตรวจเลือดด้วยการทดสอบเชิงคลินิก (Clinical Test) และส่งผลไปยังแอปพลิเคชัน IoT Platform เพื่อการวิเคราะห์จากแพทย์เป็นลำดับต่อไป น้องๆ จะเป็นตัวแทนระดับภูมิภาคเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเพื่อชิงถ้วย Imagine Cup ณ กรุงซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา
ดร.ศิษฏพงศ์ เศรษฐภัทร Head of Big Data Management & Advance Analytics กลุ่มบริษัท G-ABLE กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ยุคนี้เป็นยุคของ IoT และ Cloud ซึ่งในอนาคต ประเทศไทยน่าจะมีการใช้งานมากยิ่งขึ้น จีเอเบิลจึงพร้อมสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ อย่างเช่น ทีม WELSE ในการต่อยอด Big Data ด้วยโซลูชัน IoT โดยใช้ความชำนาญและประสบการณ์ความผู้นำด้าน Big Data ของ G-ABLE สนับสนุนน้องๆ ในครั้งนี้ และนับเป็นอีกนโยบายสำคัญของบริษัทฯ ในการส่งเสริมผลงานเยาวชนรุ่นต่อไป
G-ABLE สนับสนุนนิสิตนักศึกษามาฝึกงาน ได้ลงมือทำงานจริง เรียนรู้ทำงานร่วมกับพนักงาน ทีมวิจัย ผู้เชี่ยวชาญของบริษัท เพื่อให้เด็กได้ความรู้ ประสบการณ์ทุกด้าน เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทที่จะให้ความสำคัญกับ Big Data และ IoT Cloud ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Big Data จะเข้ามาตอบโจทย์ พร้อมสนับสนุนและผลักดันผลงานของนิสิตนักศึกษาก้าวสู่ตลาด สร้างสรรค์อุปกรณ์และนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อวงการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
"ปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมน้อย ทั้งยังขาดทรัพยากรบุคคล โดยคนที่มีความรู้ความสามารถมีเยอะ แต่คนที่เข้าใจอย่างแท้จริงและนำไปใช้ประโยชน์ได้มีจำนวนจำกัด ฉะนั้น หากน้องๆ สนใจทำ Startup ก็พร้อมสนับสนุน เพื่อยกระดับการรักษาทางการแพทย์ ทำให้มาตรฐานไอทีในวงการทางการแพทย์ของไทยดีขึ้น เด็กมีแรงบันดาลใจของตนเอง และหากเขารู้วิธีการใช้พัฒนา IoT ไปต่อยอดไม่ใช่เรื่องยาก"
"ตอนนี้ การทำธุรกิจ Startup มีประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ต้องยอมรับว่า จุดอ่อน คือเรื่องการตลาด และการทำสินค้าเข้าสู่ตลาดให้ได้ ซึ่งผลงานของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ล้วนเป็นความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจที่อัดแน่นไปด้วยความแปลกใหม่ ท้าทาย และต่อยอดได้ เพียงแต่ต้องหาเครือข่าย ให้คำแนะนำหลักการตลาด ใช้ประโยชน์ พัฒนาเทคโนโลยีให้พร้อมเข้าสู่ตลาดจริงๆ"ดร.ศิษฏพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
3 หนุ่ม จากทีม WELSE แชมป์-นายคเณศ เขมิกานิธิ, ลูกคิด-นายพสธร สุวรรณศรี และ ปังปอนด์-นายภาสกร จันทรมหา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ช่วยกันเล่าถึงจุดเริ่มต้นของผลงานดังกล่าวว่า เขาทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันทำโปรเจคจบการศึกษา ซึ่งแต่ละคนมีความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันออกไป โดยพวกเราได้มองถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ในชนบท อีกทั้งพวกเขา 3 คน เป็นเด็กวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ อยากได้ความรู้อะไรที่แตกต่าง และใช้ความรู้ที่เราเรียนมาบูรณาการให้เกิดเป็นผลงานที่ให้ประโยชน์ในวงการแพทย์และวงการศึกษา
"จุดเริ่มต้นของพวกเรา คือการมองหาประเด็นปัญหา หรือเรื่องที่สนใจ ซึ่งส่วนตัวเสนอเพื่อนๆ ว่า อยากทำเกี่ยวกับ Healthcare เพราะรู้สึกว่าเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในหลายด้าน แต่ด้านสุขภาพ เทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องยังไม่มาก อยากสร้างสรรค์อุปกรณ์ที่จะช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ ยกระดับคุณภาพชีวิต ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้" แชมป์ เล่า
ก่อนทำโปรเจคดังกล่าว 3 หนุ่ม ได้มีโอกาสลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งโชคดีที่พวกเขาได้ข้อมูลจากเหล่าพยาบาลอาสา ได้เห็นถึงการบริการทางการแพทย์ เข้าใจถึงปัญหา เมื่อรู้ปัญหาก็เริ่มค้นหาคำตอบ
แชมป์ เล่าต่อไปว่า ได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาค้นหาคำตอบ วางแพลตฟอร์ม หรือระบบการปฏิบัติการ ว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งอุปกรณ์ที่พวกเราช่วยกันสร้างนั้น เป็นการตรวจวัดระบบเอนไซม์ในเลือด เพื่อหาค่าความผิดปกติของตับ เป็นขนาดพกพาที่ทำการย่อส่วนจากห้องแล็ปมาทำงานควบคู่กับแผ่นพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งนำของเหลวในร่างกายมาผสมกับสารเคมีให้สามารถตวงวัดความผิดปกติของร่างกายในเบื้องต้นได้ ณ จุดดูแลผู้ป่วย โดยตัวอุปกรณ์จะทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทีม WELSE ซึ่งใช้เวลา 1 ปี ในการคิดค้นอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นนวัตกรรมที่ตรวจสอบเลือดเพื่อวัดระดับค่าตับแบบ Early detection จากเดิมเวลาคนไปตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโรคต้องเดินทางไปโรงพยาบาลและต้นทุนในการตรวจปกติต่อการเจาะเลือดหนึ่งครั้งตกอยู่ที่ 150 บาทต่อ 1 sample แต่ Device ของ WELSE นี้จะช่วยย่อขนาดของเครื่องตรวจเลือดเหลือเป็นเครื่องเล็กๆ ที่สามารถเข้าถึงในระดับชุมชนและชนบทที่ห่างไกลได้ และต้นทุนลดเหลือ 30 บาท ต่อ 1 sample และ 1 sample สามารถวัดค่าได้ 3 ระดับเอนไซม์ในเลือด 3 ชนิด คือ AST, ALT และ GGT
ลูกคิด เล่าเสริมว่า ตนทำส่วนซอฟต์แวร์ทั้งหมดของโปรเจค ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชัน IoT และ Cloud รวมถึง Mobile Application การทำเว็บต่างๆ ดังนั้น ประโยชน์ที่ได้รับมีเยอะมาก เพราะเรียกได้ว่าเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นไปจนถึงใช้งานได้จริง โดยเริ่มต้นนั้น ต้องยอมรับว่า การทำระบบติดตั้ง การให้บริการ การใช้ Big Data ได้ขอคำแนะนำจากทาง G-ABLE ซึ่งเคยไปฝึกงานก่อนหน้า ที่ทำให้ได้เห็นมุมมองของการทำงาน การใช้ประโยชน์จาก Big Data, IoT และ Cloud รวมถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากห้องเรียน
ขณะที่ ปังปอน เล่าว่า ตนรับผิดชอบในส่วนของฮาร์ดแวร์ทั้งหมด ซึ่งนอกจากได้นำองค์ความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ เพราะพวกเราทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ หลายสิ่งที่เรียนมาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อาจจะยังไม่พอ เช่น การตรวจเลือด ต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไร เป็นต้น ดังนั้น การทำงานของเรา 3 คน เป็นคนละรูปแบบ จึงต้องหาจุดร่วมกันเพื่อให้ทำงานตรงตามที่พวกเราต้องการ
"ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือของเรา 3 คน ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี ไม่ว่าจะเป็นทางมหาวิทยาลัย ภาคเอกชนอย่าง G-ABLE หรือ SCG ซึ่งในส่วนของกลุ่มบริษัท G-ABLE ร่วมกับ KMUTT โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ SCG Chemical ในการสร้างสรรค์ พัฒนาผลงานเพื่อให้สามารถใช้ได้จริงในโรงพยาบาลต่างๆ โดยแต่ละแห่งได้รับการสนับสนุนเงินทุน และให้คำแนะนำจากทีมวิจัยละพัฒนา เพื่อต่อยอดโครงการให้กลายเป็นบริษัท Start up นี้เป็นเป้าหมายที่พวกเราวางไว้ แต่ก็ต้องพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวไปเรื่อยๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดเป็นอุปกรณ์ที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น"