กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--แบรนด์ คอมมิวนิเคชั่น
"ยันฮี" สบช่องธุรกิจผู้สูงอายุขยายตัว ทุ่มงบ 10 ล้านบาทเปิด"ศูนย์ผู้สูงอายุยันฮี" รองรับสังคมในเมืองไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น คาดใน 3 เดือนรับลูกค้าได้ 60 เตียง หวังเก็บรายได้ปีละ 20 ล้านบาท ตั้งเป้าอนาคตขยายศูนย์ฯ เพิ่มเป็น 400 เตียงเทียบชั้นโรงพยาบาล
นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยว่าได้เปิด "ศูนย์ผู้สูงอายุยันฮี" อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม2560 เพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 2 ชั้น บนเนื้อที่ 2 ไร่ มีจำนวนเตียงที่รองรับผู้สูงได้ 60 เตียง ทั้งนี้ ศูนย์ผู้สูงอายุยันฮีให้บริการดูแลผู้สูงอายุทั้งที่ช่วยเหลือตัวเองได้และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยได้เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและเพียบพร้อมด้วยประสบการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะมีรายได้จากการศูนย์ผู้สูงอายุปีละ 20 ล้านบาท
นพ.สุพจน์ กล่าวถึงการเปิดศูนย์ผู้สูงอายุ เนื่องจากพบว่า ในปี 2557 มีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 10,014,705 คน และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในปี 2564 ซึ่งจากสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุและปล่อยให้อยู่ตามลำพัง อาจเกิดภาวะเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ประกอบกับผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ดังนั้น ทางโรงพยาบาลจึงมีนโยบาย จัดตั้งศูนย์ผู้สูงอายุยันฮี โดยมุ่งเน้นการให้บริการที่ปลอดภัย ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพแก่ผู้สูงอายุ ดังสโลแกนที่ว่า "สบายใจ สบายกาย และปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้หมอ"
สำหรับการให้บริการ ศูนย์ผู้สูงอายุยันฮี มีให้เลือก 2 แบบได้แก่ ห้องเดี่ยวและห้องรวม มีเครื่องปรับอากาศทุกห้อง รับดูแลผู้สูงอายุทั้งแบบรายเดือนและรายวัน มีพยาบาลประจำและสามารถให้การดูแลช่วยเหลือในยามฉุกเฉินตลอด 24 ชม. มีแพทย์เข้ามาเยี่ยมผู้สูงอายุเป็นประจำ ที่สำคัญในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถส่งต่อไปยังรพ.ยันฮีได้ตลอด 24 ชม.เช่นกัน บริการรับส่งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การจัดโซนนั่งเล่น โซนทานอาหาร จัดให้มีการทำบุญตักบาตร กิจกรรมการออกกำลังกาย ทำงานฝีมือ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมร่วมกัน
"เป้าหมายในอนาคต จะขยายศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพิ่มเป็น 400 เตียงภายในเวลา 5-10 ปีเทียบเท่าระดับโรงพยาบาล เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเต็มรูปแบบ" นพ.สุพจน์กล่าว