กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"ปลัดเกษตรฯ" ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" ในจังหวัดนนทบุรี เผยเกษตรกรมีความพึงพอใจโครงการฯ ที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการ " 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี (SC) เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และพัฒนาที่ดินจังหวัด ว่า ได้มีการติดตามตรวจเยี่ยมโครงการที่เข้าร่วมใน "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน"ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) การทำปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยสรรพสิ่ง) ของตำบลไทรม้า อำเภอเมืองนนทบุรี (2) การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร(สมุนไพร:ยาหม่อง ลูกประคบ) ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรไทรม้า ตำบลไทรม้า อำเภอเมืองนนทบุรี และ (3) การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมแพะ) ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์แพะนมบ้านเกาะดอน ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง ทั้งนี้ จังหวัดนนทบุรี มีโครงการเข้าร่วม จำนวน 129 โครงการ วงเงิน 87.5 ล้านบาท โดยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ได้มีความพึงพอใจในการดำเนินงานโครงการฯ และต้องการให้เป็นโครงการต่อเนื่อง นอกจากนี้เกษตรกรได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ที่ได้ริเริ่มโครงการนี้ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
สำหรับ "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบาร เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักการ ทฤษฎีและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนโดยสนับสนุนให้ ศพก. และเครือข่าย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนมีส่วนร่วมแบบประชารัฐอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายพื้นที่ 9,101 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนใน ศพก. หลัก 882 แห่ง และเครือข่าย 8,219 แห่ง