กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ หารือเอกอัครราชทูตโปรตุเกส สร้างความร่วมมือ 4 ด้าน เตรียม MOU ผลักดันการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทย กำหนดแนวทางสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างกัน โดยกระทรวงฯ เห็นว่าควรร่วมมือกับโปรตุเกส 4 ด้าน พร้อมผลักดันให้เกิดการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) สร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมของสองประเทศ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับ นายฟรังซิชกู เด อัสซิช มูไรช์ เอ คูญา วาซ ปัตตู (H.E. Mr. Francisco de Assis Morais e Cunha Vaz Patto) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทย ว่า ทั้งฝ่ายไทยและโปรตุเกส เห็นพ้องที่จะหาแนวทางสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างกันในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้แสดงความประสงค์สร้างความร่วมมือกับฝ่ายโปรตุเกสใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber security) ที่ปัจจุบันโครงข่ายดิจิทัลมีความครอบคลุมและเชื่ยมโยงในทุกมิติ รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในการเป็นกลไกหลักในการสร้างความมั่นใจและดูแลความปลอดภัยด้านไซเบอร์ให้แก่ประชาชน 2) การจัดตั้งสถาบัน Internet of Things (IoT) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งสิ่งต่างๆ จะมีความเชื่อมโยงกันในด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ในอนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และสถาบัน IoT จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
3) ด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ซึ่งรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ Smart city ในจังหวัดภูเก็ต และมีแผนจะขยายไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และอีก 3 จังหวัดในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีความเป็นอัจฉริยะที่แตกต่างกันไปตามศักยภาพและจุดเด่นของจังหวัดนั้นๆ และ 4) การแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีในการกำกับดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงทะเบียนผู้ให้บริการ OTT และการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจ E-commerce ซึ่งฝ่ายโปรตุเกสเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นระดับนานาชาติ แต่ละประเทศจึงควรร่วมมือกันสร้างระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินการกำกับดูแลมีประสิทธิภาพ และมีบรรทัดฐานร่วมกัน
"ปัจจุบันสาธารณรัฐโปรตุเกสจัดว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา และด้านระบบการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญด้านยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งโปรตุเกสมีความพยายามในการอนุรักษ์อุตสาหกรรมท้องถิ่น เช่น การผลิตรองเท้า รวมถึงการผลิตผ้าชนิดต่างๆ โดยได้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจ และอุตสาหกรรมท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน" ดร.พิเชฐฯ กล่าว
ทั้งนี้ สองฝ่ายยังเห็นพ้องให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านดิจิทัลร่วมกัน เพื่อเป็นเครื่องมือ และแนวทางในการดำเนินการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐโปรตุเกสต่อไป