กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.44) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการรายงานผลของคณะกรรมการรับซองเสนองานการก่อสร้างหอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการกทม. 2 เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 44 ที่ผ่านมา ซึ่งจากรายงานปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใดยื่นซองเสนองานฯ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการเปิดให้ยื่นฯเสนอการก่อสร้างครั้งใหม่ ภายใน 30 วัน หากไม่มีรายใดมายื่นซองเสนองานเป็นครั้งที่ 2 อาจมีการพิจารณาปรับงบประมาณการก่อสร้างฯใหม่ได้ตามความเหมาะสม ส่วนเหตุการณ์ที่มีผู้ถือแบบเสนองานการก่อสร้างหอศิลป์มาที่กทม.2 แล้วถูกบุคคลหนึ่งกระแทกจนล้มลงไปนั้น ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความกับสถานีตำรวจนครบาล ท้องที่แล้ว และในวันดังกล่าวก็ได้มีการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย
สำหรับข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของกลุ่มผู้ร้องเรียนในเรื่องการก่อสร้างหอศิลป์ฯนั้น กทม.ยินดีรับฟังความคิดเห็น และกำลังหาโอกาสที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียนต่อไป อย่างไรก็ดี ในวันนี้ (7 พ.ย.44) เวลา 10.30 น. กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ นายศิริ เปรมปรีดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะเดินทางไปยังอาคารรัฐสภาเพื่อชี้แจงเรื่องการก่อสร้างหอศิลป์ฯ ตามที่คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วนของประชาชนได้เชิญมา ซึ่งการดำเนินงานการก่อสร้างหอศิลป์นั้นกทม.ไม่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนเองแต่ต้องดูว่ามีเอกชนรายใดบ้างที่มีความพร้อมในการลงทุนก่อสร้างฯ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า สำหรับการรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมของห้างสรรพสินค้านิวเวิล์ด (บริษัทแก้วฟ้าช้อปปิ้งอาเขต)ตั้งแต่ชั้นที่ 5 — 11 ย่านบางลำภู ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว และมีการบังคับคดีให้เจ้าของอาคารรื้อถอนนั้น กทม.ได้มีการแจ้งให้ทางห้างฯทำการรื้อถอนอาคารชั้นดังกล่าวภายในกำหนด แต่ทางห้างฯไม่ได้ดำเนินการภายในกำหนด ดังนั้นกทม.จะเข้าไปดำเนินการรื้อถอนอาคารดังกล่าวตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และคิดค่ารื้อถอนทั้งหมดจากเจ้าของอาคาร กล่าวคือ กทม.จะมอบหมายสำนักการโยธา กทม.เข้าไปสำรวจชั้นต่าง ๆ ของอาคารที่ต้องทำการรื้อถอน ซึ่งราคาค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนรวมทั้งสิ้นประมาณ36 ล้านบาท ทั้งนี้ตามกฎหมายการรื้อถอนจะต้องรื้อถอนอาคารไม่ให้มีผลกระทบต่อส่วนที่ถูกต้องและบริเวณใกล้เคียง
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม.ยังได้พิจารณาเรื่องการจัดเก็บค่าบริการรักษาความสะอาดบริเวณทางเท้าที่ใช้ตั้งวางแผงลอย ซึ่งได้มีผู้เกี่ยวข้องให้ข้อสังเกตว่า การวัดแผงค้าควรมีการผ่อนปรนให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้การจัดเก็บค่าบริการรักษาความสะอาดฯยังคงใช้ราคาเดิมคือ ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 1 ตารางเมตรค่าบริการฯ เดือนละ 150 บาท ส่วนขนาดของแผงที่ใหญ่เกินไปต้องเสียค่าใช้จ่ายราคาสูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องผู้ค้าต้องจ่ายตามเนื้อที่ จึงควรมีการจำกัดขนาดพื้นที่ของแผงนั้นๆ ว่าผู้ค้ารายหนึ่งควรมีพื้นที่ไม่เกินกี่ตารางเมตร ในการนี้จะได้มีการประชุมผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ หัวหน้าฝ่ายอนามัยฯ ทุกเขต เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยในหลักการของการประชุมจะขอให้ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ ฯลฯ ลงไปดูการปฏิบัติงานวัดขนาดพื้นที่ด้วยตนเอง รวมทั้งจะมีการกรอกแบบฟอร์ม ลงลายมือชื่อผู้ค้าเพื่อรับทราบ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-