กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสตึก อำเภอแคนดง อำเภอพุทไธสง อำเภอนาโพธิ์ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอกระสัง และอำเภอเมืองบุรีรัมย์ รวม 31 ตำบล 260 หมู่บ้าน 6,069 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตรบางแห่ง ทั้งนี้ ปภ.ได้บูรณาการทุกภาคส่วนดูแลด้านการดำรงชีพของผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ โดยระดมสรรพกำลังและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง รวมถึงประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ถึง 2 สิงหาคม 2560 จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมพื้นที่ ทำให้จังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสตึก อำเภอแคนดง อำเภอพุทไธสง อำเภอนาโพธิ์ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอกระสัง และอำเภอเมืองบุรีรัมย์ รวม 31 ตำบล 260 หมู่บ้าน 6,069 ครัวเรือน นาข้าวที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 59,078 ไร่ พืชสวน 5 ไร่ พืชไร่ 4,641 ไร่ บ่อปลาได้รับความเสียหาย 378 ไร่ ถนนชำรุด 53 สาย ฝาย 26 แห่ง คอสะพาน 2 แห่ง บ้านเรือน 237 หลัง วัด 7 แห่ง สถานที่ราชการ 8 แห่ง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตรบางแห่ง ทั้งนี้ ปภ.ได้บูรณาการทุกภาคส่วนดูแล ด้านการดำรงชีพของผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ โดยระดมสรรพกำลังและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เข้าให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง ซึ่งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา ได้สนับสนุนเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล ดำเนินการสูบระบายน้ำออกจากชุมชน ขณะที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 6 ขอนแก่น ได้ดำเนินการติดตั้งสะพานเบลีย์ เพื่อเชื่อมเส้นทางถนนทางหลวงชนบทบุรีรัมย์ 5030บริเวณรอยต่อบ้านหัวหนอง ตำบลบ้านหัวหนอง ตำบลดอนกอก อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ กับบ้านกุดน้ำใส ตำบลหนองแม็ก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม คาดว่าจะประกอบแล้วเสร็จภายใน 5 วัน นอกจากนี้ ได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th