กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--Extravaganza PR
"นอกจากจะเพิ่มโอกาสในการมีงานทำ การได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมเป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแล้ว ยังเป็นการวัดระดับฝีมือและความสามารถของพวกเราเหล่าอาชีวะฝีมือชน หากความสามารถยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็จะได้กลับไปปรับปรุงฝึกฝนตัวเอง เพื่อพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้น เพิ่มความมั่นใจอีกระดับก่อนเข้าสู่โลกของการทำงานจริง" แบงค์ – อภิสิทธิ์ ศรีวงชัย นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาช่างไฟฟ้า วิทยาลัยเทคโนโลยีพลพณิชยการ จังหวัดขอนแก่น บอกถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาความรู้และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก ยิ่งในเวลานี้ที่ประเทศกำลังเร่งพัฒนาเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาทักษะของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานจึงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญ
โครงการอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี เป็นโครงการที่สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่เรียนอาชีวะระดับ ปวช. และ ปวส. สาขาช่างอุตสาหกรรม และสาขาบริการ โดยนอกจากสนับสนุนทุนการศึกษาแล้ว ยังได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของนักเรียนทุนฯ อย่างต่อเนื่อง ดังเช่นครั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี จัดกิจกรรม "ทดสอบฝีมือ ฝึกปรือสู่อาชีพ" เปิดโอกาสให้นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ระดับ ปวส. กว่า 50 คน เข้ารับการอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร และสาขาช่างก่ออิฐ เพื่อส่งเสริมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการฝึกปรือทักษะให้เชี่ยวชาญตามสายงาน และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพ พร้อมทดสอบวัดระดับฝีมือและความสามารถของตนเอง
"ดีใจที่ได้เห็นน้องๆ อาชีวะฝีมือชนเข้าร่วมอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะการเรียนสายอาชีพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญให้เป็นที่ยอมรับในภาคอุตสาหกรรม ต้องมีมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้นการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจึงเป็นใบเบิกทางที่ดีสำหรับน้องๆ ไม่ว่าจะไปเรียนต่อ สมัครงาน หรือประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต"สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิ เอสซีจี กล่าว
ด้าน พิเชฐ สุรินทนนท์รักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี กล่าวถึงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติว่า เป็นการทดสอบความความรู้ ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพตามเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยระบุระดับที่ผ่านการทดสอบเป็นหลักฐานยืนยันในทักษะฝีมือของตน
"ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานแรงงาน จะมีช่องทางเพิ่มในการมีงานทำ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและสถานประกอบการ ว่าจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพ มีทักษะฝีมือ นอกจากนี้ยังได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งหากมีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นจำนวนมาก ก็จะช่วยให้ตลาดงานมีบุคลากรที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น" รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนทบุรี กล่าว
ด้านนักเรียนทุนฯ ผู้เข้าร่วมอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ อย่าง น้องเมย์ อรัญภรณ์ ดิษฐยภัทรท์ นักศึกษาชั้น ปวส.1 สาขาช่างไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ก็ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมว่า ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำไปต่อยอดในการเรียนและทำงานได้ และยังถือว่าเป็นความท้าทายอีกขั้นหนึ่งในการเรียนสายอาชีวะอีกด้วย
"การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้สึกภูมิใจในสายวิชาชีพของตนเองเพิ่มขึ้นไปอีกค่ะ เพราะในการทดสอบต้องอาศัยความรู้ความสามารถทักษะในหลาย ๆ ด้าน เช่น การคำนวณ การอ่านแบบ การจัดทำแผนผังระบบไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถมากๆ แต่ก็ภูมิใจที่สามารถทำได้ค่ะ นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้เข้าร่วมการทดสอบในช่วงก่อนที่จะเรียนจบ เพราะเมื่อเรียนจบแล้วหากจะทำงานเลยก็เชื่อว่าน่าจะหางานได้ไม่ยาก เพราะได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่การันตีได้ว่าเรามีความสามารถมีทักษะ เป็นอาชีวะฝีมือชนที่มีคุณภาพ" น้องเมย์ กล่าว
อีกหนึ่งตัวแทนนักเรียนทุนฯ สาขาช่างก่อสร้าง น้องเท็น นทีธร จันทะ นักศึกษาชั้น ปวส.2 วิทยาลัยเทคนิคระยอง ก็ได้พูดถึงการมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า
"นอกจากที่ผมจะได้พัฒนาฝีมือตัวเองแล้ว ยังได้รับความรู้ใหม่ๆ เช่น การใช้เครื่องมือใหม่ ขั้นตอนวิธีการทำงานที่เหมาะสม การเลือกและใช้วัสดุอย่างประหยัด หรือจะเป็นการทบทวนความรู้ ความจำในเรื่องของการก่ออิฐ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานในสาขาช่างก่อสร้าง ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่มีประโยชน์ และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกไปสู่ชีวิตของการทำงานได้เป็นอย่างดีครับ ผมขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีเป็นอย่างมาก ที่ได้ให้โอกาสที่ดีในการส่งเสริมและกระตุ้นให้พวกเรานักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ มาร่วมทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในครั้งนี้ มันทำให้พวกเรากระตือรือร้น และรู้ว่าเราจะหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้เลย ต้องรักษามาตรฐานไม่ให้ลดลงและต้องทำให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเมื่อถึงเวลาต้องทำงานจริงๆ มันจะยากกว่านี้ และคนเก่งๆ จะเยอะกว่านี้อีก" น้องนทีธร กล่าว
สำหรับน้องๆ อาชีวะฝีมือชนที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเข้ารับการทดสอบพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติได้ที่ศูนย์ทดสอบใกล้บ้าน มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าทุกความตั้งใจ มุ่งมั่นฝึกฝน ที่จะพัฒนาทักษะความสามารถของเหล่าน้องๆ อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ จะเป็นแรงส่งให้ทุกคนผ่านการทดสอบ ก้าวไปสู่การเป็นฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ และจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป