กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กู๊ด เน็ตเวิร์ค
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICTเผยผลงานSACICT เพลิน Craft ครั้งที่ 1เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เต็มพื้นที่ลานควอเทียร์ อเวนิว ศูนย์การค้า ดิเอ็มควอเทียร์ เรียกรอยยิ้ม และความประทับใจจากกลุ่มลูกค้าในเมืองกว่า 940 คน ร่วมลงมือทำหัตถกรรมกว่า 15 ชนิดด้วยตนเอง(Hands on Experience) ส่งบรรยากาศเพลินๆ ให้การจำหน่ายงานหัตถศิลป์ของชีวิตประจำวันจาก 20 ร้านสมาชิกฯ ในงานมียอดถึง 653,000 บาท
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าการจัดงานSACICT เพลิน Craft ครั้งที่ 1 ณ ศูนย์การค้า ดิเอ็มควอเทียร์ครั้งนี้SACICT ตั้งเป้าให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ลงมือทำงานหัตถกรรมดัวยตนเอง หรือ Hands on Experience ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงานที่ใช้ชีวิตในช่วงวันหยุดในศูนย์การค้าฯ และกลุ่มชาวต่างชาติได้รู้สึกประทับใจ ภูมิใจ คุ้นเคยจนเลือกใช้งานหัตถศิลป์เป็นส่วนนึงในชีวิตปัจจุบัน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีดูจากจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมลงมือทำหัตถกรรม (Hands on Experience) ทั้ง15 ชนิดจากการเก็บข้อมูลสถิติผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วันได้กว่า 940 ราย โดยมี 3 กิจกรรมที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ งานตัดกระดาษรังผึ้ง งานเพ้นท์เสื้อลายบาติก และงานเย็บโมบายผ้าปลาตะเพียนด้วยเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วเพลิดเพลิน ได้ใช้เวลากับครอบครัว ประกอบกับเป็นงานใกล้ตัวที่เคยเห็นตอนเด็กๆ ด้วย
ทั้งนี้ ด้วยการสร้างบรรยากาศเพลินๆ ในงานทำให้ส่วนการจำหน่ายงานหัตถศิลป์จาก 20 ร้าน มีคนสนใจร่วมเลือกชม เลือกซื้อสินค้าภูมิปัญญาประดิษฐ์ในงานกว่า 635,000 บาท และมีนักออกแบบจากศูนย์การค้าฯ สนใจนำงานจักสานป่านศรนารายณ์ และเส้นตอกไม้ไผ่ ไปเป็นส่วนตกแต่งต่างๆ ภายในศูนย์การค้าฯ เพิ่มเติมอีก
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเรียงตามลำดับความนิยมสูง ได้แก่ งานจักสาน 25% งานเครื่องหนัง19% งานเครื่องปั้น-เซรามิค และงานเครื่องประดับ ได้รับความนิยมเท่าๆกันที่ 15%
การจัดงานนี้ นับว่าสามารถตอบโจทย์ต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ครอบครัวคนในเมือง และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในเมืองไทย จนถึงนักท่องเที่ยวศูนย์การค้าที่สามารถร่วมประดิษฐ์ผลงานหัตถศิลป์ด้วยฝีมือตนเองและยังเป็นการสร้างการรับรู้ขั้นตอนการผลิตงานหัตถกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยรื้อฟื้นงานหัตถกรรมในความทรงจำวัยเด็ก หรือวัยเรียนแล้วยังสร้างแรงบันดาลใจในงานฝีมือที่คุ้นเคยไปด้วยพร้อมกัน
จึงนับเป็นก้าวแรกที่ขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมให้เข้าสู่ชีวิตประจำวันของกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนในเมืองได้สัมผัสใกล้ชิด สร้างโอกาสเชื่อมโยงการตลาดแบบโดยตรงแสดงให้เห็นว่า งานหัตถกรรมนอกจากจะเป็นกิจกรรมสำคัญที่สร้างรอยยิ้มและความสุขทางใจแล้ว ยังส่งผลให้เกิดรายได้กับกลุ่มสมาชิกงานหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาที่ผสมผสานนวัตกรรมความร่วมสมัยนำรายได้กลับสู่ชุมชนทางถิ่นทั่วไทย และยังช่วยสร้างกำลังใจให้เกิดการต่อยอด พัฒนาผลงานฝีมือเพื่อตอบความต้องการของสังคมปัจจุบันได้อีกด้วย