กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน ร่วมสัมมนาในเวที World Agricultural Forum ณ ประเทศสิงคโปร์ ชู นโยบายด้านการเกษตรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ด้านนานาชาติ ชื่นชมไทย ในนโยบายการเกษตร เช่น แปลงใหญ่ Zoning by Agri-Map และเกษตรทฤษฎีใหม่ เล็งนำข้อมูลไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศตนเอง
นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ผู้แทนกระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน (ASEAN Minister of Agriculture and Forestry: AMAF) ถึงการเข้าร่วมการสัมมนา "Solving the Triple Challenge to Agriculture: Trade, New Technologies and Food Security" ในหัวข้อ "ความสำคัญของการรักษาฐานการผลิตอาหาร" ซึ่งจัดโดย World Agricultural Forum และสถาบันการศึกษานานาชาติ RSiS ร่วมด้วย NanYang Technological University ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2560 ณ ประเทศสิงคโปร์
การสัมมนาครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ เอกชนและองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข 3 ประเด็นปัญหาสำคัญของภาคเกษตรยุคปัจจุบัน คือ ทิศทางการค้ายุคใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และความมั่นคงด้านอาหาร อีกทั้งยังครอบคลุมแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก เช่น การเติบโตของสังคมเมืองอย่างรวดเร็วและมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของกฎระเบียบการค้าโลก ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง และการพัฒนาที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การผลิต รูปแบบการบริโภค การกระจายและการเข้าถึงสินค้าเกษตรและอาหารในอนาคต
นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับรองรับและแก้ไขประเด็นความท้าทายของภาคเกษตรของโลกใน 4 หัวข้อหลัก คือ 1) การค้าสินค้าเกษตรและอาหารในบริบทของโลกยุคใหม่ 2) ความสำคัญของการรักษาฐานการผลิตอาหาร 3) เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนและความมั่นคงอาหารและ 4) การกำกับดูแลที่ดีและพันธมิตรทางการเกษตร
ในการนี้ รองเลขาธิการ สศก. ได้นำเสนอแนวทางเชิงนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยการดำเนินงานของประเทศไทย ได้ดำเนินนโยบายด้านการเกษตรครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่น การจัดการฟาร์มแบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน การรับรองการผลิตให้ได้มาตรฐาน การจัดตั้งธนาคารสินค้าเกษตร การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร (ศพก.) ในพื้นที่ และการเชื่อมโยงภาคเกษตรกับโครงการประชารัฐเพื่อประสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ โดยน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในทุกกระบวนการของการดำเนินงาน
ทั้งนี้ สำหรับภูมิภาคอาเซียน ได้กำหนดแผนความร่วมมืออาเซียน สาขาอาหาร เกษตร และ ป่าไม้ ปี 2016–2025 ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรอาเซียนในตลาดโลก ภาคเกษตรมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความยั่งยืน และเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลก ส่วนประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร อาเซียนยังจัดทำ แผนบูรณาการด้านความมั่นคงอาหารของอาเซียน และ แผนกลยุทธ์ด้านความมั่นคงอาหารอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานความร่วมมือให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ อินเดีย และเยอรมนี (BAYER) ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ดำเนินนโยบายการเกษตรที่สำคัญ เช่น แปลงใหญ่ Zoning by Agri-Map และเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านรายได้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร อย่างแท้จริง และพร้อมนำข้อมูลของประเทศไทยไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและดำเนินงานของตนอีกด้วย