กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION
ในงานพิธีลงนามข้อตกลง MOU ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยและฝรั่งเศสในด้านพลังงาน, เมืองอัจฉริยะ (smart cities),คมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรมอาหาร ระหว่างสภานายจ้างฝรั่งเศส (MEDEF International) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "Thailand 4.0 : From Ambition to Action" โดยมี นายฟรองซัวส์ กอร์แบ็ง ประธานสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย เป็นผู้แทน และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พร้อมด้วย นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เป็นผู้แทน ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนด้านการค้าและการลงทุน นับเป็นอีกก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส และถือเป็นโอกาสอันดีในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม
ในการผสานความร่วมมือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาถึงที่มาของการพัฒนาโมเดล Thailand 4.0 รวมถึงทิศทางและเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยโมเดล Thailand 4.0 ประกอบไปด้วย "กลไกการขับเคลื่อน" ชุดใหม่ (New Growth Engine) มี 3 กลไกสำคัญ คือ 1. กลไกขับเคลื่อนผ่านการสร้างและยกระดับผลิตภาพ (Productive Growth Engine) 2. กลไกขับเคลื่อนที่คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Growth Engine)และ 3. กลไกการขับเคลื่อนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Green Growth Engine) ทั้งนี้ นายจิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย และนักลงทุนชาวฝรั่งเศส ได้ให้ความสนใจถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จากอดีตสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ 4.0 ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนฝรั่งเศส ในการเตรียมพร้อมเดินหน้าการค้าและการลงทุนในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาโมเดล Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงพลังจากความร่วมมือของบุคคลากรและองค์กรหน่วยงานรัฐและเอกชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของการพัฒนาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ได้ร่วมพูดคุยกับ นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ถึงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างสหราชอาณาจักร กับประเทศไทย ในการร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาได้มีโอกาสร่วมประชุมกับองค์กรต่างๆและกลุ่มผู้แทนจากอีกหลายประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เช่น หอการค้าของสหรัฐอเมริกา และสภาธุรกิจไทย-ยุโรป เป็นต้น ซึ่งต่างให้ความสนใจและพร้อมเดินหน้าร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 ไปพร้อมกับประเทศไทย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและกระจายความมั่งคั่งได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องกับแนวคิดของThailand 4.0 ที่ว่า "Sustainable Growth with Shared Prosperity"