กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลายปีที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้เพื่อใช้ดำรงชีพ แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ภาวะมลพิษทางน้ำ อากาศ ฝุ่นละออง และการร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงทำให้ปัจจุบันองค์กรต่างๆเริ่มให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน(CSR) เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม
การดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นเปรียบเสมือนเป็นการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งการใส่ใจความต้องการของประชาชนโดยรอบนั้นนับได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีงามที่จะก่อให้เกิดคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม โดยจะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรในระยะยาวอีกด้วย
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมให้ประกอบกิจการภายใต้หลักการเป็นอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเริ่มต้นจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี การดูแลการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนรอบโรงงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดูแลพนักงานให้มีสวัสดิการที่ดี และปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย ตลอดจนพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอกโรงงาน
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการให้ครอบคลุมในหลากหลายมิติ โดยการนำมาตรฐาน CSR-DIW ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์และผลักดันอย่างต่อเนื่อง กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการโรงเรียน CSR-DIW ที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานตามเกณฑ์มาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นครูแนะแนวให้โรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจทำ CSR ให้เกิดแรงจูงใจในการดำเนินงาน ภายใต้หลักการ 7 ด้าน ที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติเพื่อนำเอาไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ
· ด้านการกำกับดูแล เข้าไปให้ความรู้ ความเข้าใจในเกณฑ์และแนวปฏิบัติงานตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงาน ด้านกฎหมาย และการกำกับดูแลโรงงานอย่างเป็นระบบเพื่อให้ถูกต้องตามหลักสากล
· ด้านสิทธิมนุษยชน เข้าไปแนะนำส่งเสริมให้โรงงานให้สิทธิมนุษยชนแก่ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการทางร่างกายให้ได้สิทธิเท่าเทียมกันและให้ความรู้ความเข้าใจในการปฎิบัติงานต่างๆอย่างคนปกติ
· ด้านการปฏิบัติกับแรงงาน เน้นการปฏิบัติกับพนักงานหรือแรงงานอย่างเป็นธรรมเพื่อให้พนักงานมีความรักในองค์กรและส่งเสริมให้พนักงานได้รับความรู้ในด้านอาชีพเพื่อนำเอาไปต่อยอดในอนาคต
· ด้านสิ่งแวดล้อม ให้คำแนะนำ ให้ความรู้ทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีในการดูแลสิ่งแวดล้อมในโรงงานเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณโดยรอบและเป็นการรักษาระบบนิเวศในระยะยาวต่อไป
· ด้านการดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมการทำงานอย่างโปร่งใส คัดค้านการคอรัปชั่น
· ด้านผู้บริโภค สอนให้โรงงานมีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค แสดงความจริงใจในการผลิต เช่น เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ผู้บริโภครับทราบและไม่โฆษณาเกินจริง
· ด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชน สอนการมีความรับผิดชอบระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน รับฟังความคิดเห็นและนำเอาไปต่อยอดให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างกัน เช่น การส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพ ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
ทั้งนี้ การปฎิบัติตามเนื้อหาดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรมมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการลดความขัดแย้งและเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประกอบกิจการอุตสาหกรรมภายใต้กฎหมายที่ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย อีกทั้ง สร้างจิตสำนึกการมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของพนักงาน ชุมชน และทรัพยากร ที่จะต้องพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ รวมถึงจะทำให้การดำเนินธุรกิจของโรงงานสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น สร้างรายได้ให้กับโรงงานและชุมชนอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ว่า เริ่มด้วยใจ ทำด้วยมือ"กรอ. ร่วมอยู่ ยั่งยืน คืนสังคม" ทั้งนี้ในปี 2560 มีโรงงานเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวแล้วกว่า 130 โรงงาน
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร 0 2202-4025 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่นๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล pr@diw.mail.go.th