กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ประชาสัมพันธ์โครงการฯ
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และมูลนิธิคีตรัตน์ ร่วมกันจัดคอนเสิร์ตแห่งความทรงจำ "New Orleans Jazz ดนตรีทรงโปรด" ณ โรงละครสยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๖ กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดบทเพลงสไตล์ นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ส ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงโปรดที่สุด ให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสสัมผัสกับแนวดนตรีแห่งความคิดถึง เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงการจากไปของพระองค์ท่าน โดยได้วงดนตรี นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ส ออลสตาร์ (NOJAS) วงดนตรีแจ๊สระดับโลก จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เคยแสดงถวายต่อหน้าพระพักตร์ มาแสดงร่วมกับ รศ.ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ รองประธานมูลนิธิคีตรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ที่เคยถวายงานทางด้านดนตรีต่อพระองค์ท่านมากว่า 30 ปี
รศ.ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ นักดนตรี นักประพันธ์เพลง และนักวิชาการดนตรี รองประธานมูลนิธิคีตรัตน์ กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการงานจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสัมผัสกับบทเพลงอันไพเราะ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับรู้ถึงแนวดนตรีที่มีความสนุกสนาน ดังที่พระองค์ทรงโปรด ด้วยการแสดงโดยวงดนตรีต้นฉบับจากเมืองนิวออร์ลีนส์แท้ๆ ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ทรงคุ้นเคย พร้อมกันนั้น ยังเป็นการรักษา และสืบสานความงดงามของบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระองค์ให้คงอยู่สืบไป
ซึ่ง "นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ส ก็คือดนตรีของชาวบ้าน ที่มาเล่นกันเพื่อความผ่อนคลาย รูปแบบของดนตรี มีความสนุกสนาน เป็นกันเอง และด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ ทำให้ผมอยากแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ให้กับทุกท่าน เพื่อร่วมกันรำลึกถึงพระองค์ผ่านเสียงเพลง ผ่านการแสดงจากวง นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ส ออล สตาร์ วงที่เคยถวายการแสดงดนตรีเฉพาะพระพักตร์เป็นวงสุดท้ายณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ และยังมีความศรัทธาชื่นชมต่อพระองค์ท่านว่าทรงเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพวกเค้าตั้งใจอย่างมาก ที่จะมาร่วมรำลึกถึงพระองค์ท่านในครั้งนี้ร่วมกันกับเราด้วย"
ด้าน มาร์ค บรอด ตัวแทนสมาชิกวง นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ส ออล สตาร์ ครอบครัวของเค้า (คุณลุง 2 ท่าน) ต่างก็เคยแสดงดนตรีถวายต่อหน้าพระพักตร์มาแล้ว ได้กล่าวว่า มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมงานคอนเสิร์ตในครั้งนี้
"เพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ เข้ากับสไตล์ นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ส เป็นอย่างดี เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดดนตรีสไตล์นี้อยู่แล้ว เพลงของพระองค์จึงเหมือนกับเพลงพื้นเมืองของพวกเรา ผมเองได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระองค์ท่านมามากมายตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ครั้งแรกตอนที่ได้แสดงถวายจึงรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่สำหรับครั้งนี้ มันมีทั้งความสุข และความยินดีครับ"
สำหรับแนวทางในการสืบสานเพลงพระราชนิพนธ์ผ่านมูลนิธิคีตรัตน์นั้น รศ.ดร. ภาธร กล่าวว่า เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริ ทรงเกรงว่าเพลงที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นนั้น จะได้รับการถ่ายทอดออกไปแบบไม่ถูกต้อง ณ เวลานั้นจึงได้มีการรับสั่งให้สังคยนาเพลงทั้งหมดขึ้นใหม่ โดยใช้เวลาในการรวบรวมและปรับปรุงกว่า ๕ ปี จึงแล้วเสร็จ ดังนั้นมูลนิธิคีตรัตน์ จึงมีความมุ่งหวังที่จะนำดนตรี และโน๊ตเพลงที่ได้รับการตรวจสอบจากพระองค์แล้ว มาเป็นต้นแบบในการส่งต่อถึงคนรุ่นใหม่สืบต่อไป
"ในตอนนั้น พระองค์ทรงรับสั่งให้ผมทำโน๊ตเพลง และพระองค์ทรงเป็นผู้ตรวจสอบ ทรงแก้ไขด้วยพระองค์เอง ผมจึงตั้งใจเอาไว้ว่า การสังคยนาครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบที่ดี และถูกต้องจริงๆ ในการที่จะนำไปเผยแพร่ รักษา สืบทอด ให้คนรุ่นต่อไปในภายภาคหน้า รวมทั้งยังได้รักษาพระราชเจตนารมณ์ของพระองค์ท่านทางด้านดนตรีแจ๊สด้วย ซึ่งทางมูลนิธิคีตรัตน์เองก็จะจัดกิจกรรมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่พระองค์ท่านทรงโปรด และได้รำลึกถึงพระองค์ท่านตลอดไป"รศ.ดร.ภาธร กล่าว