สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลกเผยไตรมาสแรกตลาดทองคำไทยสดใสแต่ไตรมาสสองส่อแววทรุด

ข่าวทั่วไป Thursday August 2, 2001 13:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)
Gold Demand Trends วารสารรายสามเดือนของสมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลกประจำไตรมาสที่หนึ่งปี 2544 ระบุปริมาณความต้องการทองคำในตลาดเมืองไทยในช่วงไตรมาสแรกเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีกลาย 17% สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คิดเป็นยอดรวม 25.1 ตัน และเฉพาะความต้องการการใช้ทองคำรูปพรรณแตะระดับ 21.2 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับ ไตรมาสแรกของปี 2543 อย่างไรก็ตามความต้องการทองคำในตลาดเมืองไทยยังส่อแววทรุดตัวลงในไตรมาสที่สองจากผลพวงทางเศรษฐกิจ ราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง
ปริมาณการใช้ทองคำดังกล่าวได้รับการกระตุ้นจากการตัดราคาทองคำของพ่อค้าปลีกในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และมีรายงานว่าผู้ผลิตทองคำไม่สามารถรับมือกับอัตราความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยอดรวมความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนเท่ากับ 3.9 ตันหรือเพิ่มขึ้นถึง 95% จากปีที่ผ่านมา โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงผนวกกับสภาวะตลาดหุ้นที่น่าวิตกและค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงส่งผลให้แรงจูงใจต่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นลดต่ำลงและกระตุ้นให้นักลงทุนหันมาลงทุนในตลาดทองคำมากขึ้น
สำหรับตลาดทองคำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปริมาณความต้องการทองคำในช่วงไตรมาสแรก เท่ากับ 76.1 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยประเทศไทย เวียดนามและสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ในขณะที่อุปทานทองคำในอินโดนีเซียและมาเลเซียลดต่ำลง ซึ่งรวมแล้วปริมาณความต้องการทองคำรูปพรรณและทองคำเพื่อการลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น 51%
มิสฮารุโกะ ฟูกูดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก กล่าวว่า “อัตราการบริโภคทองคำที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกนับเป็นการเริ่มต้นปีที่สร้างกำลังใจได้อย่างดีเยี่ยม และเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นอัตราการบริโภคทองคำเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในอินเดียซึ่งเป็นตลาดทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกและอัตราความต้องการทองรูปพรรณในสหรัฐอเมริกาที่เติบโตสวนทางกับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และในอนาคตอันใกล้นี้ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจจะทำให้อัตราการเติบโตของตลาดทองคำในสหรัฐอเมริกาและตลาดอีกหลายแห่งลดต่ำลงแต่แนวโน้มการบริโภคทองรูปพรรณจะยังมีอยู่มาก และเราเชื่อมั่นว่าปริมาณความต้องการบริโภคทองคำในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจต่อไป เนื่องจากมีการเพิ่มงบลงทุนในส่วนของรายการส่งเสริมการขายในธุรกิจทองคำประกอบกับอานิสงค์ของกระแสแฟชั่นสีทองที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง”
ปริมาณการบริโภคทองคำรูปพรรณและทองคำเพื่อการลงทุนส่วนบุคคลในตลาดหลัก 27 แห่งของโลกเท่ากับ 826 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2543 ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ของไตรมาสแรกด้วย ทั้งนี้ แนวโน้มการบริโภคทองคำรูปพรรณในไตรมาสนี้ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้น 6% คิดเป็นยอดรวม 735 ตัน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของปีนี้ด้วย ในทางตรงกันข้ามอุปทานทองคำเพื่อการลงทุนกลับอยู่เพียงระดับ 91 ตัน หรือลดต่ำลง 3% เมื่อเทียบกับปีกลาย
อัตราการบริโภคทองคำในประเทศอินเดียเพิ่มสูงขึ้นถึง 23% หรือเท่ากับ 243 ตัน เทียบกับสถิติที่ ตกลงของปีกลาย และมีอัตราการนำเข้าอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นถึง 26% โดยมีแรงกระตุ้นจากฤดูกาลแห่งการแต่งงานและเทศกาลรื่นเริงอื่น ๆ ประกอบกับการสั่งซื้อสินค้ามาเติมสต็อกเพิ่มขึ้นของร้านค้าปลีกหลังจากผ่านช่วงที่มีการซื้อขายทองคำกันอย่างคึกคัก
ประเทศที่สร้างสถิติใหม่ของการบริโภคทองคำในไตรมาสแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเพิ่มขึ้น 17% และเม็กซิโก เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีกลาย ทั้งนี้ยอดจำหน่ายทองคำรูปพรรณในสหรัฐอเมริกามีสถิติที่ดี เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากแฟชั่นเครื่องประดับทองคำชิ้นใหญ่ ๆ และจากผู้บริโภค บางส่วนที่ลดการซื้อเครื่องประดับประเภทอัญมณีราคาแพงและหันมาซื้อหาทองคำแบบเรียบง่ายแทน สืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้กระแสแฟชั่นสีทองยังส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคทองคำในญี่ปุ่นเพิ่มสูงกว่าปีกลายถึง 19%
เมื่อผนวกกับอัตราการบริโภคทองคำที่เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในตลาดทองคำที่อื่น ๆ อีกบางแห่ง ปริมาณการบริโภคทองคำในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้สามารถชดเชยอัตราการบริโภคทองคำที่ตกต่ำลงอย่างหนักใน ตุรกีและไต้หวัน ซึ่งมีสถิติลดลง 38% และ 31% ตามลำดับ สืบเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและอุปทานทองคำเพื่อการลงทุนที่อ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปริมาณการใช้ทองคำในประเทศไทยนั้น นายแดน ศรมณี ผู้จัดการประจำประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า “ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรก ปริมาณการใช้ทองคำในบ้านเราจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่สำหรับไตรมาสสองนี้ ปริมาณการใช้ทองคำกลับลดลงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 25% โดยจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณการใช้ทองคำอยู่ที่ 12 ตัน แต่สำหรับปีนี้กลับลดลงมาเหลือเพียง 9 ตัน ซึ่งสาเหตุก็เกิดจากผลกระทบของเศรษฐกิจภายในประเทศไทยที่ยังทรงตัวอยู่ ราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง ประกอบกับเป็นช่วงเปิดเทอมในภาคการศึกษาที่สอง ทำให้ผู้ปกครองหลายคนต้องนำทองคำแท่งหรือเครื่องประดับทองคำที่เก็บสะสมไว้ออกมาจำนำกับโรงรับจำนำ หรือขายที่ร้านขายทอง”
“ในส่วนของโรงรับจำนำนั้น เป็นแหล่งเงินกู้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภคชาวไทย ด้วยอัตราถึง 37.2% จากข้อมูลของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด โดยสิ่งของที่ประชนนิยมนำไปจำนำกับโรงรับจำนำมากที่สุดก็คือ สร้อยคอทองคำ 63.1% และแหวนทองคำ 16.9% ในขณะที่ร้านขายทองเป็นแหล่งเงินกู้ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นจากบรรดาผู้บริโภคเมื่อมีปัญหาทางด้านการเงิน ด้วยอัตรา 17.8% เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนโรงรับจำนำ ทำให้ช่วงระยะเวลาดังกล่าว ร้านทองต้องรับซื้อทองคืนจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้ตัวเลขปริมาณการใช้ทองคำในประเทศไทยจึงลดลง เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ล้วนมีปริมาณการใช้ทองคำลดลงในไตรมาสสอง” นายแดนกล่าวสรุป--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ