ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนงวด 9 เดือน ปี 2543 มีกำไรเพิ่มขึ้น 134 %

ข่าวทั่วไป Monday November 20, 2000 08:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์สรุปผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนรอบ 9 เดือน ของปี 2543 บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีบริษัทที่มีกำไร 232 บริษัท โชว์ผลกำไรสุทธิรวม 51,333 ล้านบาท และมีกำไรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 134 %
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานสรุปผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2543 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2543 ว่าเมื่อครบกำหนดการนำส่งงบการเงินประจำไตรมาส 3 มีบริษัทจดทะเบียนนำส่งงบการเงินที่สอบทานแล้วมายังตลาดหลักทรัพย์ รวม 365 บริษัท จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 381 บริษัท
บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตและบริการ (ไม่รวมสถาบันการเงินและบริษัทในหมวด REHABCO) จำนวน 297 บริษัท มีผลกำไรสุทธิรวมสำหรับงวด 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2543 ) จำนวน 16,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 50,272 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 134 % ทั้งนี้ หากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 33,782 ล้านบาทแล้ว จะมีกำไรก่อนผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 50,685 ล้านบาท โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 1,225 ล้านบาท และสำหรับผลการดำเนินงานงวด 3 เดือน (กรกฎาคม - กันยายน 2543) มีผลขาดทุนสุทธิ 15,276 ล้านบาท โดยขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 68,483 ล้านบาท หรือลดลง 78 %
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2543 แยกตามรายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรมีทั้งสิ้น 22 กลุ่ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในภาคการผลิต อุตสาหกรรมและบริการ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสูงสุด 5 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มขนส่ง กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ กลุ่มชิ้นส่วน อิเลคโทรนิคส์ กลุ่มเยื่อกระดาษและกระดาษ และกลุ่มพลังงาน มีกำไรสุทธิรวม 26,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 6,182 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 327 % ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ยอดขายมีอัตราการเติบโต 24 % และมีอัตรากำไรขั้นต้น 32 %
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลขาดทุนมีจำนวน 6 กลุ่ม กลุ่มที่มีผลขาดทุนสูงสุด 5 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ และกลุ่มการแพทย์ มีผลขาดทุนสุทธิรวม 26,616 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 53,994 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 51 % ซึ่งเป็นผลมาจากมีอัตราการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้น 22 % โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 27 % เพิ่มจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 26 % และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง 33 %
สำหรับยอดขายรวมในงวด 9 เดือนของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตและบริการเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตของยอดขาย 18 % ในขณะที่มีอัตรากำไรขั้นต้นใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับ 26 % อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 2.31% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบ 7.05% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 0.67% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบ 2.01%
บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ มีผลการดำเนินงานสรุปได้ดังนี้
ธนาคารพาณิชย์
ธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผลขาดทุนสุทธิในงวด 9 เดือนรวม 1,704 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 214,533 ล้านบาท หรือลดลง 99 % เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 221 อันเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ในระดับสูง สำหรับผลกำไรสุทธิในไตรมาส 3 มีจำนวน 73,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 47,878 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 254 % ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษกำไรและขาดทุนจากการขายเงินให้สินเชื่อที่ด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งแล้ว ธนาคารพาณิชย์โดยรวมจะมีผลขาดทุนสุทธิ 22,642 ล้านบาท
ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์
สถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ 21 บริษัท มีผลกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน รวม 1,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 8,334 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 112 % เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิก่อนตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สำหรับในไตรมาสที่ 3 มีกำไรสุทธิรวม 979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 582 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 268 %
ความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียน
ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2543 มีบริษัทจดทะเบียนรายงานความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้มายังตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 142 บริษัท โดยมีหนี้ที่ปรับโครงสร้างได้เรียบร้อยแล้ว จำนวนรวม 458,431 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลหนี้ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2542 ที่มีหนี้ที่ปรับโครงสร้างได้จำนวน 251,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 82 % บริษัทจดทะเบียนใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้โดยการขยายระยะเวลาชำระหนี้จำนวน 285,269 ล้านบาท คิดเป็น 62 % การแปลงหนี้เป็นทุนและหุ้นกู้จำนวน 56,245 ล้านบาท คิดเป็น12% การโอนขายทรัพย์สินลดเงินต้นและดอกเบี้ย และวิธีอื่น ๆ จำนวน 116,917 ล้านบาท คิดเป็น 26 % ทั้งนี้ ยังคงมีหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้างอีกจำนวน 477,372 ล้านบาท
สอบถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
ฝ่ายสารนิเทศ
โทร. 229-2046
โทรสาร 359-1005-6--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ