กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· วิทยาศาสตร์ฯ มธ. ชี้โบราณสถาน เหนือ-อีสาน อาจได้รับกระทบ รุดสร้าง "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ" เพื่อวางแผนการบูรณะอย่างถูกหลัก
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิด 2 ต้นแบบนวัตกรรมประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา และเยียวยาผลกระทบจากภัยพิบัติ ได้แก่ "ระบบ Tracking ผู้ประสบภัย"หรือระบบแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์ รายงานผ่านเว็บไซต์แสดงข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่สามารถแสดงการร้องขอความช่วยเหลือ ค้นหาสถานที่ และแจ้งจุดเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังเปิดตัว "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ" การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายที่ได้จากโดรน และนำมาประมวลผล สร้างเป็นข้อมูลดิจิทัลสามมิติ ที่สามารถแสดงได้ถึงรายละเอียดความเสียหายของโบราณสถานหลังประสบภัยพิบัติ ทั้งนี้ สองผลงานดังกล่าวเป็นผลงานที่พร้อมใช้งานได้จริง หากได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะสามารถพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564- 4440-59 ต่อ 2010 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า จากปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสานล่าสุด ที่ได้สร้างความเสียหายและผลกระทบที่ตามมามากมาย การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการคิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในทางออกที่ทั่วโลกให้ความสนใจและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวในหลากหลายด้าน ที่รอการสนับสนุนจากภาครัฐ ในการผลักดันให้เกิดการต่อยอดและนำไปใช้ได้จริงในสังคม โดยตัวอย่างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ฝีมือคณาจารย์และนักศึกษา ได้แก่ "แผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์" และ "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ"
ดร.วนิดา พฤทธิวิทยา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า "แพลตฟอร์มบริการสร้างเว็บไซต์สำหรับแสดงข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (GIS with Crowdsourcing as a Service - GCaaS)" พัฒนาโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 รุ่น รวมทั้งสิ้น 4 คน เป็นเครื่องมือช่วยสร้างเว็บไซต์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลผู้ประสบภัย ซึ่งใช้เทคนิคด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS-based website) ในการจัดแสดงแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยและภาพข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของพื้นที่ประสบภัย นอกจากนี้ ยังสามารถรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลาย โดยได้นำร่องด้วยการประยุกต์ใช้กับการรวบรวมข้อมูลการร้องขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ (Twitter) สามารถแสดงผลได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ผู้ประสบภัยที่สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียจะสามารถขอรับความช่วยเหลือแบบออนไลน์ โดยระบุเพียงพิกัดที่อยู่ปัจจุบัน และติดแฮชแท็กที่ประกาศใช้งานไว้อย่างทั่วถึง ทีมผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังสามารถเพิ่มและอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้เว็บไซต์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลผู้ประสบภัยสามารถแสดงการร้องขอความช่วยเหลือ และสถานะการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การจะประยุกต์ใช้ระบบดังกล่าวให้รองรับพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ในเรื่อง "ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ของแต่ละเขตพื้นที่" โดยหากได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐแล้ว ระบบแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์นี้ จะสามารถเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ด้าน ดร.พงศกรณ์ วิจิตเวชไพศาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า อีกหนึ่งผลกระทบความเสียหายของภัยพิบัติต่างๆ คือความเสียหายของสถานที่สำคัญและโบราณสถาน ที่มีมากมายอยู่ในทุกพื้นที่ประเทศไทย โดยตัวอย่างของอุทกภัยในภาคเหนือและภาคอีสานล่าสุด ทำให้โบราณสถานต่างๆ ในพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ" ที่ใช้การถ่ายภาพจากอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาร่วมกับระบบการถ่ายภาพโบราณสถานและสถานที่สำคัญแบบสามมิติความละเอียดสูง เพื่อประมวลผลและสร้างข้อมูลดิจิทัลสามมิติ ที่สามารถหมุน เลื่อนและขยายขนาดของตัวโมเดลเพื่อดูรายละเอียดต่างๆ ของโบราณสถาน ที่จะสามารถนำข้อมูลดิจิทัลสามมิติดังกล่าว มาเพื่อศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลง ก่อนและหลังประสบภัย เพื่อพิจารณาความเสียหายของโบราณสถาน และใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบูรณะต่อไป
ในส่วนของ รศ.โรจน์ คุณเอนก อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเสริมว่า ผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นต่อโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้จะยังไม่ปรากฏชัด เป็นรูปธรรม ณ เวลาปัจจุบัน แต่ต้องเฝ้าระวังถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการท่วมขังของน้ำเป็น เวลานาน เช่น บริเวณพระธาตุนารายณ์เจงเวง ด้วยฐานรากของพระธาตุฯ เป็นดินเมื่อน้ำท่วมขังเป็นเวลานานอาจเกิดการทรุดตัวได้ หรือบริเวณผนังของ บ้านเรือนที่ทำจากไม้ อาจจะเกิดการบวมของไม้ได้ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบถึงความเสียหายแล้ว แนวทางในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูโบราณสถานและเมืองเก่า มีหลักสาคัญในการปฏิบัติ 3 ประการ คือ
1.รักษาความแท้ (Authentic) การยึดถือ โครงสร้าง และรายละเอียดของโบราณสถานนั้นๆ โดยไม่ต่อเติมหรือดัดแปลง
2.คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ (Identity)การคงรักษาเอกลักษณ์ของสิ่งนั้น ทั้งมิติทางกายภาพ และมิติทางวัฒนธรรม เช่นการรักษาประเพณีในท้องถิ่นนั้นๆ และ
3.ความกลมกลืน (Integrity) ซึ่งนอกจากการฟื้นฟูโบราณสถานที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ แล้ว จำเป็นต้องปรับสภาพสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ ทั้งอาคารบ้านเรือนในชุมชน สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ใหญ่ เพื่อช่วยส่งเสริมให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมนั้นยังคงมีคุณค่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพื่ออำนวยประโยชน์ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นความภาคภูมิใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ผ่านการเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาซึมซับและเรียนรู้วัฒนธรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานแถลงข่าว "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วย ผู้ประสบภัย-แก้ปัญหาภัยพิบัติ" พร้อมเปิดตัว "ระบบแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์" และ "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ" 2 ต้นแบบนวัตกรรมที่ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา เอาตัวรอด และเยียวยาผลกระทบจากภัยพิบัติที่พร้อมใช้งานได้จริง กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องกระจก ชั้น 1 อาคารบรรยายรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th