กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงโครงการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดประชุม ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรและสหกรณ์ เกษตรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด จาก 6 จังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิคุณภาพ ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร และบุรีรัมย์ วัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงตลาดรองรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ของโครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายข้าวซึ่งอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ ข้าวที่ได้การรับรองมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ (Organic Thailand) และข้าว GAP ได้ในราคาสูงขึ้นสอดคล้องกับคุณภาพ ซึ่งควรสูงกว่าข้าวทั่วไป โดยมีเป้าหมายให้ปีการผลิต 2560 – 2564 เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ได้ไม่น้อยกว่า 594,000 ตัน และข้าวเปลือก GAP ของโครงการนาแปลงใหญ่ ไม่น้อยกว่า 10.30 ล้านตัน
นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเชื่อมโยงตลาด โดยจับคู่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ และจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายผลผลิตข้าวจากโครงการฯ ซึ่งผู้ประกอบการค้าข้าวที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ สามารถไปขอสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จากธนาคารที่ร่วมโครงการ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี และธนาคารอาจสมทบชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี และให้สำเนาหนังสือกู้ยืมเงินแจ้งให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบการรับซื้อข้าวของชาวนาในโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีระยะเวลาได้รับการชดเชยดอกเบี้ย คือ 1) ผู้ประกอบการค้าข้าวอินทรีย์ ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา 3 ปี และ 2) ผู้ประกอบการค้าข้าว GAP ได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ในระยะเวลา 1 ปี
"การดำเนินการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร นอกจากจะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรและผลกระทบจากสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมและการทำลายระบบนิเวศน์ได้ อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ไม่ต่ำกว่า 46,600 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 590 ล้านบาท (เฉลี่ยเพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 12,660 บาท) และเกษตรกรในโครงการนาแปลงใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 861,100 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท (เฉลี่ยเพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 5,226 บาท) นอกจากนี้ ภายในปีการผลิต 2564 ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตข้าวคุณภาพของอาเซียน โดยผลิตข้าวอินทรีย์เข้าสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 200,000 ตันข้าวเปลือก (130,000 ตันข้าวสาร) และผลิตข้าว GAP เข้าสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 10.30 ล้านตันข้าวเปลือก (6.70 ล้านตันข้าวสาร) ด้วย" นางสาวชุติมา กล่าว