กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมและตรวจเยี่ยมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำท่วม การแก้ปัญหา และการเตรียมการฝนที่จะตกในระลอกใหม่ พร้อมประชุมผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์กับนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล จังหวัด และชลประทานจังหวัดในพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เช่น สกลนคร พื้นที่บางระกำ และพระนครศรีอยุธยา ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทานสามเสน ว่า ในปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบน้ำท่วมรวม 10 จังหวัด 99 อำเภอ 633 ตำบล 5,276 หมู่บ้าน โดยเป็น ภาคอีสาน 9 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมาร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และ หนองคาย และ ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการและเร่งรัดการปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยในภาคอีสาน ได้สั่งการให้มีการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนลำปาว ลงมาทางกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และ อุบลราชธานี ซึ่งอุบลราชธานีเป็นจุดรวมน้ำจากแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ทำให้เกิดน้ำท่วมลุ่มต่ำ โดยกรมชลประทานต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนพื้นที่เพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างใกล้ชิดและทันต่อสถานการณ์ รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไว้ล่วงหน้าเพื่อพร้อมใช้งานได้ทันที โดยในส่วนของ จ.สกลนคร ขณะนี้พื้นที่ในเขตเทศบาลนครได้ใช้กระสอบวางเป็นคันกั้น และ ระดมเร่งสูบน้ำออก ส่งผลให้ในเขตเทศบาลนครไม่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว ส่วนบริหารหนองหาร คงเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่ประมาณ 54,820 ไร่ แบ่งเป็น รอบหนองหาร 14,000 ไร่ รอบลำน้ำก่ำ 40,800 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำก่ำ 18 เครื่อง และ เครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง ที่ขณะนี้ระดับน้ำลดลงตามลำดับ คาดว่าในวันที่ 7 ส.ค. 60 จะเข้าสู่สภาวะปกติ และในส่วนการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ยังเป็นไปตามแผนงานโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 12 ส.ค. 60 และสามารถเก็บกักน้ำได้บางส่วนเช่นกัน
ส่วนในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งประสบปัญหาฝนตกหนักในพื้นที่ไม่ใช่จากปริมาณน้ำหลากจากน้ำเหนือ โดยพื้นที่นอกคันกั้นน้ำยังมีน้ำท่วมขังตามปกติ ส่วนในคันกั้นน้ำมีน้ำในนาข้าวสูงจากฝนตกในพื้นที่ แต่ไม่ทำให้นาข้าวเสียหาย เพียงแต่รถเกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ไม่ได้ ซึ่งกรมชลประทานจะเร่งสูบน้ำออกจากนาข้าวให้แห้งทันเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือน ส.ค. 60 ขณะที่ จ.พิษณุโลก อ.บางระกำ บางส่วนได้เก็บเกี่ยวแล้ว ไม่ได้รับผลกระทบ ในส่วนที่ยังไม่เก็บเกี่ยว จะเก็บเกี่ยวในวันที่ 15 ส.ค. 60 โดยกรมชลประทานได้วางเครื่องสูบน้ำ รถแบ็คโฮ หากมีปริมาณน้ำเพิ่มจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน
พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเงินช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วม โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับอุทกภัยทางภาคใต้ โดยจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเกษตรกรรายละ 3,000 บาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวนประมาณ 5.7 แสนราย เพื่อเป็นมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้า สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรตามระเบียบกระทรวงคลังต้องใช้ระยะเวลาในการสำรวจความเสียหายจริงหลังน้ำลด