กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 4 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น อยู่ที่ 765แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 58
· ผู้ผลิต Shale oil ในสหรัฐฯ หลายราย ปรับลด CAPEX ปี พ.ศ. 2560 ลงอาทิ บริษัท Marathon ปรับลดลง 200ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากผลประกอบการไตรมาส 2/60 ขาดทุน ล่าสุด บริษัทChesapeake Corp. ประกาศลดจำนวนแท่นผลิตในปีนี้จากปัจจุบันลง 4 แท่น (Rig) สู่ระดับ 18 แท่น ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2560 อีกทั้งลดจำนวนหลุมผลิตน้ำมัน (Well) ที่จะเดินเครื่องผลิตในเดือน มิ.ย. – ธ.ค. 60 ลง 10 หลุม จากแผนเดิม 260 หลุม
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 481.9 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานไนจีเรียยังคงประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Lightเนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบ Trans Niger (ปริมาณขนส่งน้ำมัน 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ยังคงปิดดำเนินการ แม้ว่าท่อขนส่งน้ำมัน Nembe Creek (ปริมาณขนส่งน้ำมัน 180,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาเปิดดำเนินงานวันที่ 2 ส.ค. 60 หลังจากปิดตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 60 จากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม
· การเมืองโลกอยู่ในภาวะตึงเครียดหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศตกต่ำลง นอกจากนี้สหรัฐฯ คว่ำบาตรและอายัดสินทรัพย์ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นาย Nicolas Maduro เนื่องจากการใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constitutional Assembly) ที่ได้จากการเลือกตั้งวันที่ 30 ก.ค. 60 เพิ่มอำนาจการบริหารให้แก่ตนเอง ขณะที่บริษัทอิหร่าน 6 แห่ง ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตร เพราะเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาขีปนาวุธ ล่าสุด
วันที่ 6 ส.ค. 60 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council หรือ UNSC) มีมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่ที่เสนอโดยสหรัฐฯ เพื่อตัดช่องทางส่งออกถ่านหิน แร่เหล็ก และอาหารทะเล ที่สร้างรายได้ให้เกาหลีเหนือ
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 1 ส.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 45,640 สัญญา อยู่ที่ 306,830 สัญญา สูงสุดตั้งแต่สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 เม.ย. 60
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Reuters รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของ OPEC เดือน ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 370,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 26.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยไนจีเรียส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 260,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 2.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 59 ) ขณะที่ลิเบียส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 120,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 880,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้นักลงทุนกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้นในตลาด
· EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2560 จะเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อน มาอยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี พ.ศ. 2561 จะอยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
· บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Zawiya (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) วันที่ 6 - 26 ส.ค. 60 ปัจจุบันโรงกลั่นในลิเบียเดินเครื่องที่ระดับ 50,000-70,000 บาร์เรลต่อวัน จากกำลังการกลั่นทั้งประเทศรวม 380,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะโรงกลั่นอื่นๆในประเทศ อาทิ โรงกลั่น Ras Lanuf (กำลังการกลั่น220,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดดำเนินการจากปัญหาทางเทคนิคและขาดเงินทุนหมุนเวียน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลัง Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งนับเป็นการลดลง ครั้งที่ 3 ตั้งแต่เริ่มชะลอในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 60 ส่งสัญญาณว่าการผลิต Shale Oilของสหรัฐฯ อาจมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง อีกทั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลายบริษัทมีการประกาศปรับแผนการใช้จ่ายในปี พ.ศ.2560 ลดลง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Marathon Oil Corp., Davon Energy Corp., Diamondback Energy Inc. และอื่นๆ นอกจากนี้ EIA ของสหรัฐฯ ยังเผยว่าปริมาณสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในกลุ่มประเทศ OECD ในเดือน ก.ค. 60 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นเดือนที่ต่ำกว่าระดับในปีก่อนหน้าเป็นครั้งแรก ส่งผลให้นักลงทุนที่มีมุมมองราคาน้ำมันในลักษณะขาขึ้น (bullish) กลับมาลงทุนอีกครั้ง ปัจจัยที่น่าจับตามองได้แก่สถานการณ์ในประเทศลิเบีย ที่ล่าสุดวิศวกรห้องควบคุมการขนส่งน้ำมันเผยผ่านสื่อออนไลน์ Facebook ว่าถูกกลุ่มติดอาวุธเข้ายึดห้องควบคุมซึ่งอาจทำให้แหล่งผลิต Sharara (กำลังการผลิต 270,000 บาร์เรลต่อวัน) ต้องหยุดดำเนินการ อนึ่งแหล่งผลิตดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่สุดของลิเบียและปัจจุบันผลิตประมาณ 1 ใน 4 ของการผลิตน้ำมันดิบของประเทศ และจับตามองการประชุม Technical Committee ของผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC ในวันที่ 7-8 ส.ค. 60 ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.5-54.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 48.0-52.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.5-53.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก โรงกลั่นน้ำมัน Pernis (กำลังการกลั่น 404,000บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Royal Dutch Shell ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 60 ทำให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าและหน่วยกลั่นส่วนใหญ่หยุดดำเนินการ ส่งผลให้อุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ (NWE) ตึงตัว ทั้งนี้บริษัท Shell คาดว่าการซ่อมแซมโรงกลั่นจะแล้วเสร็จในครึ่งหลังของเดือน ส.ค. 60 ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันเบนซินในทุกภูมิภาคทั่วโลกแข็งแกร่ง อาทิ EIA รายงานปริมาณอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 28 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้น 21,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ Platts คาดว่าบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน ส.ค. 60เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.1-1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรล อีกทั้งนักวิเคราะห์ FGE ประเมินอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอิหร่าน ในเดือน ก.ค. 60 อาจแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 532,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากจำนวนยานยนต์เพิ่มขึ้น ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 28 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 227.7 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.82 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามสำนักวิเคราะห์ด้านพลังงาน Energy Aspects รายงานกำลังการกลั่นน้ำมันทั่วโลกที่ปิดซ่อมบำรุงเดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับหน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินในครึ่งแรกปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.1 % อยู่ที่ 40.9 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 29 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.0-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผู้ค้าน้ำมันคาดปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลจากภูมิภาคเอเชียสู่ยุโรปจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่น Pernis ปิดดำเนินการ ขณะที่ Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลได้แรงสนับสนุนจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น อาทิ อุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีนที่ไม่รวมปริมาณสำรอง (Apparent Demand) เดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.2 % มาอยู่ที่ 3.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และการขุดเจาะเหมืองแร่ ฟื้นตัว และ International Air Transport Association (IATA) รายงานอุปสงค์การบินโลก เดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.0 % เพราะการค้าระหว่างประเทศเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ทำให้อุปสงค์การบินโลกในครึ่งแรกปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.4 % สูงสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillate Fuel เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 28 ก.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 149.4 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillatesเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.65 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.01 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าคาดรัสเซียจะส่งออก Ultra-low Sulphur Diesel (ULSD) จากท่าเรือ Primorsk ในทะเลบอลติก เดือน ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.7 % อยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 29 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.2 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.0-66.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล