กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผอ.สคร. ได้เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศสมาชิก Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ได้เชิญให้ สคร. ไปแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิก APEC ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในเวที Asia Pacific Financial Forum (APFF) ที่ประเทศแคนาดา ถึงการที่ไทยสามารถใช้มาตรการ PPP fast track ในการขับเคลื่อนการร่วมลงทุนภาครัฐกับเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรมจนสามารถขับเคลื่อนโครงการ PPP ได้ถึงประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ภายใน 1 ปี
ในการประชุม APFF ณ ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2560 ประเทศสมาชิก APEC ได้ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค มีความต้องการในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 1.77 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อปี แต่รัฐบาลของประเทศสมาชิกหลายประเทศมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จึงได้มีการนำแนวนโยบายร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) มาใช้เพื่อลดภาระการคลังของภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกหลายแห่งยังประสบปัญหาในการขับเคลื่อนโครงการ PPP อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น APEC จึงได้เชิญ ประเทศที่สามารถขับเคลื่อนโครงการได้สำเร็จ เช่น ประเทศแคนาดา ประเทศไทย ประเทศออสเตรเลีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศเม็กซิโก มาแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้วย PPP ให้แก่ประเทศสมาชิก APEC
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผอ. สคร. ได้กล่าวถึงมาตรการ PPP Fast Track ของ สคร. เพื่อผลักดันโครงการ PPP ให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการลดระยะเวลาในการเตรียมโครงการ (Project Preparation) ด้วยการดำเนินการระบุรายการที่ต้องทำ (PPP Checklist) และจัดตั้งคณะทำงานประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานเจ้าของโครงการ กระทรวงเจ้าสังกัด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และ สคร. เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยมีข้อมูลที่ตรงกันและมีความเข้าใจโครงการไปในทิศทางเดียวกันซึ่งได้ช่วยลดระยะเวลาการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลง นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินการคู่ขนานในการเตรียมร่างสัญญาร่วมลงทุน ไปพร้อม กับขั้นตอนการเตรียมโครงการด้วย ทำให้นโยบาย PPP Fast Track สามารถลดการดำเนินการโครงการ PPP จากปกติที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 25 เดือน เลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น และสามารถผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้สำเร็จ โดยในปีที่ผ่านมา สคร. สามารถขับเคลื่อนโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้ถึง 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี ในส่วนของการดำเนินการและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance) ซึ่งโครงการทั้งหมดจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย