กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กรมประมง
จากกรณีพบปลาหมอสีคางดำแพร่กระจายพันธุ์ในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและกุ้งในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากให้กับผู้เลี้ยงปลาและกุ้ง ล่าสุดกรมประมงได้จัดวาระการประชุมเร่งด่วน เพื่อกำหนดนโยบายในการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศ
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปลาหมอสีคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นครอบครัวเดียวกับปลาหมอสีและปลาหมอเทศ จัดเป็นปลาที่กินอาหารเก่ง โดยสามารถกินได้ทั้งแพลงก์ตอนพืช และลูกกุ้ง ลูกปลาที่มีขนาดเล็กๆ รวมทั้งมีความสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อัตราการรอดตายสูง ดังนั้นเมื่อมีการแพร่ระบาดจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นรวมถึงบ่อเลี้ยงของเกษตรกร จากการสำรวจปริมาณปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำสาธารณะยังพบปริมาณน้อยส่วนมากจะพบในบ่อเลี้ยวสัตว์น้ำเนื่องจากวิถีชีวิตของเกษตรกรจะใช้วิธีเปิดน้ำเข้าบ่อเลี้ยงของตนเพื่อรับลูกพันธุ์จากธรรมชาติโดยไม่ใช้ถุงกรองส่งผลทำให้ปลาชนิดดังกล่าวหลุดรอดเข้าไปแพร่ขยายพันธุ์กินสัตว์น้ำขนาดเล็กและลูกสัตว์น้ำรุ่นอนุบาล ซึ่งหลังจากเกิดการระบาดกรมประมงได้จัดส่งทีมเจ้าหน้าที่กรมประมงลงพื้นที่สำรวจข้อมูลความเสียหาย และช่วยบรรเทาปัญหาในเบื้องต้นไปเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดกรมประมงได้จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการประมง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยได้ข้อสรุปดังนี้
แนวทางระยะสั้นที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน
1. กรมประมงเตรียมจัดโครงการกำจัดปลาหมอสีคางดำเพื่อลดปริมาณในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง โดยภายใต้โครงการนี้จะมีการรับซื้อปลาชนิดนี้ในช่วงระยะเวลาจำกัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดเงื่อนไขและคำนวณราคารับซื้อให้เหมาะสมเพื่อจูงใจให้เกษตรกรและประชาชนจับมาขึ้นมาขาย ทั้งนี้ กรมประมงได้ขอความร่วมมือ
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และประชาชนในพื้นที่ในการช่วยกันนำอวน
ไปลากจับปลาหมอสีคางดำขึ้นจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
2. กรมประมงได้เตรียมปล่อยปลากะพงขาวลงแหล่งน้ำเพื่อตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ปลาหมอสีคางดำ ส่วนเหตุผลที่กรมประมงไม่ปล่อยลงแหล่งน้ำทันทีเนื่องจากปลากะพงขาวเป็นปลากินเนื้อ แต่การเลี้ยงปลากะพงขาว ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะให้อาหารเม็ดส่งผลให้พฤติกรรมในการล่าเหยื่อที่เคลื่อนไหวลดน้อยลงไป ดังนั้นกรมประมงจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกกระตุ้นสัญชาตญาณนักล่าของปลากะพงขาวก่อนที่จะนำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำ
3. กรมประมงได้มีการประชาสัมพันธ์ให้จับปลาหมอสีคางดำไปแปรรูปเพื่อบริโภค เนื่องปลาชนิดนี้สามารถจับนำมาขึ้นมาแปรรูปรับประทานได้
แนวทางระยะยาวที่จะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับแนวทางระยะสั้น
1. กรมประมงได้เตรียมร่างกฎหมายลำดับรองโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง ปี 2558 ซึ่งกรมประมงจะมีอำนาจอย่างชัดเจนในการควบคุมดูแลสัตว์น้ำต่างถิ่น โดยจะขึ้นบัญชีปลาหมอสีคางดำ เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด สำหรับสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดอื่นๆ หากจะนำเข้ามาในประเทศก็จะต้องพิจารณารายชนิดไป ทั้งนี้กรมประมงไม่ได้กำหนดห้ามนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นทุกชนิด การที่จะนำเข้าจะต้องให้คำตอบได้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสัตว์น้ำชนิดนี้ และมีวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำ ต่างถิ่นหลุดออกไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ สำหรับบทลงโทษถ้ามีการประกาศกฎหมายบังคับใช้หากพบผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับ ไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. กรมประมงมอบหมายให้ทางสำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัดได้ประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียจากการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นและรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยที่นิยมปล่อยปลาทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ ให้หันมาปล่อยปลาสายพันธุ์ไทยแท้เพื่อช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศ
สำหรับการหาผู้ปล่อยให้ปลาชนิดนี้ให้หลุดรอดลงแหล่งน้ำสาธารณะจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและเกษตรกรนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากเนื่องจากคาดว่าปลาอาจหลุดรอดลงแหล่งน้ำสาธารณะมาประมาณ 4 – 5 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะพบแพร่กระจายอย่างมากในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงหรือครอบครอง สัตว์น้ำต่างถิ่น(สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) และไม่ต้องการเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว อย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้ท่านนำสัตว์น้ำต่างถิ่นมามอบให้กับทางกรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแลและป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะอันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของประเทศต่อไป