กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--เวิรฟ
เมื่อพื้นดินเป็นโต๊ะเรียน ท้องฟ้าเป็นกระดาน และปัญหาในชุมชนเป็นการบ้านที่ต้องแก้โจทย์ เปิดโลกให้เด็กรุ่นใหม่และคุณครูได้ค้นพบสิ่งใหม่ในโลกกว้างไปพร้อมๆ กัน ความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดตลอด 4 ปีของ "ห้องเรียนแห่งอนาคต" ของบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ที่กำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 5 เป็นบทพิสูจน์ถึงความตั้งใจในการยกระดับการศึกษาไทย ทลายกรอบสี่เหลี่ยมของห้องเรียน สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ด้วยกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) เพื่อให้เด็กๆ ได้ลงมือทำจริง เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กๆ จากผู้รับฟัง (Passive Learner) มาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง (Self Learner) ด้วยการสำรวจปัญหาในชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการค้นพบ และมี "คุณครู" เป็นผู้สนับสนุนและที่ปรึกษาที่เป็นหนึ่งเดียวกับการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนอย่างชัดเจน อย่างที่ ครูเจ้ง หรือครูกัณจนา อักษรดิษฐ์ คุณครูที่ปรึกษาชุมนุม Samsung Discovery Club แห่งโรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ได้ทำ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นคุณครูต้นแบบ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนเทิงวิทยาคมได้กลายเป็นโรงเรียนแม่ข่ายที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของโครงการ "ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต" (Samsung Smart Learning Center) ให้กับโรงเรียนลูกข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงได้เอาเป็นแบบอย่าง
อะไรที่ทำให้โรงเรียนเทิงวิทยาคมเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านการเรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
"กระบวนการเรียนรู้ระหว่างทางนั้นสำคัญมากกว่าผลลัพธ์ในปลายทาง" อ.สมศักดิ์ กัณหา วิทยากรจากโครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ให้คำตอบ "ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง มุ่งพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กจำเป็นต้องมี เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต นอกจากความรู้ทางด้านวิชาการแล้ว เด็กๆ ต้องมีทักษะด้านอื่นๆ อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ปัญหา สื่อสารความคิด และทำงานร่วมกับผู้อื่น ฉะนั้นสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญที่มีส่วนช่วยในการจุดประกายการเรียนรู้ลักษณะนี้คือบทบาทหน้าที่ของคุณครู จากเดิมที่เป็นผู้ป้อนความรู้เพียงฝ่ายเดียว ให้เปลี่ยนมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแต่ไม่ชี้นำความถูกผิด และพยายามผลักดันให้เด็กมีส่วนร่วมและได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เกิดการวิพากษ์ด้วยเหตุผล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง"
ในปีนี้ซัมซุงได้เปิดประตูห้องเรียนแห่งอนาคต ณ โรงเรียนเทิงวิทยาคม เพื่อต้อนรับครูจำนวน 60 คนจากโรงเรียนในโครงการ "ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต" ทั่วประเทศ เปิดโอกาสให้คุณครูจากต่างพื้นที่ ต่างบริบท ได้ศึกษาวิธีการเรียนการสอน รวมถึงตัวอย่างการวิพากษ์อันนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักเรียน โดยยกตัวอย่างโครงการเรือธงของเด็กนักเรียนในโรงเรียนเทิงวิทยาคมที่ได้ผลิต "กูรูกบ" รุ่นเยาว์ขึ้นมาเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจลุ่มน้ำอิง จ.เชียงราย ในอนาคต เพื่อเล่าให้เห็นภาพของกระบวนการเรียนรู้
ครูเจ้ง - กัณจนา อักษรดิษฐ์ คุณครูที่ปรึกษาชุมนุม เล่าว่า "กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ค้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นใกล้ตัวภายในชุมชนของพวกเขา โดยเริ่มต้นนำเอาหัวข้อต่างๆ มาพูดคุยกัน วิพากษ์ข้อดีข้อเสียของแต่ละหัวข้อ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าการโหวตตามเสียงข้างมาก เพราะเป็นการหาข้อตกลงร่วมกันด้วยเหตุผล ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ยอมรับเหตุผลของอีกฝ่ายแล้วทำให้สามารถช่วยกันทำงานต่ออย่างเต็มใจ โดยไม่มีใครวางมือกลางคัน ณ ตอนนั้น เด็กๆ ใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ในการวิพากษ์ 2 หัวข้อ ระหว่างการศึกษาการเลี้ยงกุ้ง หรือ การเลี้ยงกบ โดยหน้าที่ของคุณครูคือการพยายามสนับสนุนหัวข้อที่ตัวเด็กมีส่วนได้ส่วนเสีย โดยต้องไม่ชี้นำ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวเด็กกับปัญหา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เด็กมีความตื่นเต้นที่จะค้นหาคำตอบ สุดท้ายจึงตกลงกันได้ในโจทย์ที่ว่า'อยากรู้ว่าจะเพิ่มผลผลิตการเลี้ยงกบอย่างไร' เนื่องจากกบในธรรมชาติกำลังจะหายไป และการศึกษาเรื่องกุ้งต้องใช้เวลานาน บวกกับค่าใช้จ่ายที่สูงมากและต้องใช้สารเคมี
เมื่อได้หัวข้อใหญ่เรื่องการเลี้ยงกบแล้ว เด็กๆ ก็แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อศึกษาในมิติต่างๆ ของการเลี้ยงกบ จากนั้นใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการนำเสนอ เด็กทุกคนมีเป้าหมายที่จะทำงานตัวเองให้เสร็จ อยากเห็นเอง เจอเอง จากแนวคิดและไอเดียของตัวเอง เพื่อนำความรู้มาแบ่งปันกับเพื่อนๆ หรือนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีครูคอยบอกว่า ควรทำอะไรตอนไหนเลยสักครั้ง และเด็กๆ ก็ยังสนุกกับการเรียนรู้ที่พวกเขาเป็นผู้กำหนดหัวข้อในการศึกษาด้วยตัวเอง สนุกที่จะค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
ทัศนคติที่สำคัญที่ครูควรมีคือ การมองคำถามของเด็กๆ ในเชิงสร้างสรรค์ และกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและหาคำตอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเด็นต่างๆ กระจ่างขึ้น เพื่อจะได้ต่อยอดไปสู่การค้นพบใหม่ๆ มากขึ้น และส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าถาม ไม่เน้นถูกหรือผิด และคอยช่วยนักเรียนรวบรวมความคิดด้วยการตั้งคำถามเพื่อทำให้เกิดการชี้แจงหรือวิพากษ์กันด้วยเหตุผล ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดการทำโครงการ"
เมื่อสิ้นสุดโครงการพบว่า คุณครูและนักเรียนได้ค้นพบร่วมกันว่าวิธีนี้เป็นการหล่อหลอมให้เด็กเกิดความสนุกและรักที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะค้นหาคำตอบจากโลกกว้างด้วยตัวเอง อีกทั้งเด็กๆ ยังได้ค้นพบศักยภาพและความสามารถของตัวเองจากการได้ลงมือทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม ซึ่งทำให้เห็นอนาคตของตัวเองชัดเจนขึ้น
ชนิดาภา แสนสาร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนเทิงวิทยาคม กล่าวว่า "การเข้าร่วมชุมนุม Samsung Discovery Club ทำให้หนูได้เรียนไปด้วยและสนุกไปพร้อมกันด้วย ถึงแม้จะมีบางช่วงที่ท้อเพราะต้องรับผิดชอบหลายส่วน แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี หนูได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ได้ฝึกความอดทน เพิ่มความกล้าแสดงออก การวิพากษ์ช่วยให้หนูกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นโดยไม่กลัวถูกผิด หนูซึมซับกระบวนการเรียนรู้แบบเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น ไม่ยึดติดอยู่กับความคิดของตัวเองฝ่ายเดียว นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ลองใช้เทคโนโลยีเข้ามาประกอบการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับพัฒนาความสามารถทางด้านอื่นๆ เช่น การทำหนังสั้น และการตัดต่อวีดิโอเพื่อใช้ในการนำเสนอโครงงาน อีกทั้งยังมีโอกาสได้ส่งต่อความรู้ให้แก่น้องเช่นเดียวกับที่คุณครูคอยให้คำปรึกษาแก่เราอีกด้วย"
สุนันต์ สะซีลอ อาจารย์จากโรงเรียนศาสนศึกษา จังหวัดปัตตานี หนึ่งในครูผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าว "ผมรู้สึกประทับใจที่มีโอกาสได้ก้าวเข้าสู่ห้องเรียนแห่งอนาคตของโรงเรียนเทิงวิทยาคมในวันนี้ เพราะสิ่งที่ได้รับคือกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูเจ้ง ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่วิธีการสอนแบบเด็กเคลื่อนเด็ก โดยเริ่มจากเป็นผู้ติดตาม ก่อนจะได้ลงมือทำ และกลายเป็นผู้ดูแลและกระตุ้นน้องๆ รุ่นหลัง ซึ่งผมคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีการที่ประยุกต์ใช้ได้จริง อีกทั้งยังใช้หลักของเหตุและผลมาเลือกหัวข้อที่จะศึกษาในชุมชน แล้วกลับมาวิพากษ์กันเพื่อฟังความเห็น ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาความสามารถและความกล้าผ่านการเรียนการสอนของโครงการ Samsung Smart Learning Centerทั้งนี้ยังสามารถพัฒนาและแก้ไขการศึกษาของเราได้ การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จะไม่เน้นการเรียนการสอนโดยใช้หนังสือ แต่จะให้นักเรียนได้ลองปฏิบัติจริง ถ้าสนใจก็สามารถไปหาข้อมูลเพิ่มได้ แต่สิ่งสำคัญคือผู้บริหารสถานศึกษาและทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน นักเรียนจะต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีและสื่อ มีไหวพริบ สามารถคิดวิเคราะห์และแยกแยะได้ รวมถึงจะต้องเป็นคนดี มีคุณธรรมในการดำรงชีวิต ทั้งนี้จะต้องขอบคุณซัมซุงที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา และอยากให้ทุกภาคส่วนมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น"
ด้าน วรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า"โรงเรียนเทิงวิทยาคมถือเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ประยุกต์ใช้นวัตกรรมให้เข้ากับกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ได้อย่างดีเยี่ยม เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนอื่นๆ ในโครงการได้เข้ามาศึกษาวิธีจัดการเรียนการสอนของคุณครู ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนและสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนอย่างเห็นได้ชัด
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุงได้ขยายเครือข่ายสู่โรงเรียนอื่นๆ ไปแล้วถึง 47 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยสร้างประโยชน์ให้กับครูจำนวนกว่า 3,000 คน และนักเรียนกว่า 70,000 คน โดยนักเรียนเหล่านี้ยังได้ค้นพบการเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่ามีการพัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะการใช้ชีวิตและอาชีพ ทักษะการใช้สื่อข่าวสารและเทคโนโลยี และการสร้างมนุษยสัมพันธ์ นอกจากนี้ 53% ของนักเรียนยังเผยว่า การทำงานร่วมกันกับเพื่อน คือหนึ่งในสามสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการเติบโตของพวกเขา
ซัมซุงเชื่อว่าการศึกษาคือเมล็ดพันธุ์แห่งนวัตกรรม และการค้นพบเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติก้าวไปข้างหน้า เรามีเป้าหมายชัดเจนในการขยายต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตเช่นนี้ต่อไป รวมไปถึงการจัดเวิร์คช็อปให้ผู้บริหารโรงเรียนและคุณครู และขยายผลไปสู่เครือข่ายและภาคีในภาคส่วนต่างๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกันซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาไทยให้เข้มแข็ง อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต"