กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation -AF) ประเทศญี่ปุ่นติดต่อกันมาแล้วปีนี้เป็นปีที่ 6 ซึ่งถือเป็นทุนวิจัยที่ให้ความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยเน้นให้การสนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่ โครงการวิจัยที่มีนวัตกรรมและมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม และสามารถสร้างผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าให้กับประเทศชาติใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) สาขาสารสนเทศและระบบอัตโนมัติ (Information Sciences and Automatic Control) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) และสาขาพลังงาน (Energy) โดยในปี 2560 นี้ มีนักวิจัยจาก มจธ. ได้รับทุนวิจัยถึง 6 ท่าน 6 งานวิจัย ประกอบด้วย ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์, ดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล, ดร.นฤมล ตันติพิษณุ, ดร.เยาวลักษณ์ มะปราง รสหอม, ดร.สุภโชค ตันพิชัย และผศ.ดร.สนติพีร์ เอมมณี
สาขาสารสนเทศและระบบอัตโนมัติ 2 ท่าน คือ ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์ หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง "หุ่นยนต์ที่สามารถรู้จำเสียงพูดสำหรับช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก" จากเดิมสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ BLISS ออกแบบมาให้เป็นผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญในการบำบัด ให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ความรู้ตามระดับพัฒนาการ พร้อมเรียนรู้การควบคุมตนเองในสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านการเล่นเกมตามกฎกติกาของเกม เพื่อให้หุ่นยนต์ BLISS มีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการได้ทั้งด้านการสื่อสารกับผู้อื่น (Social Communication) ควบคู่กับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ที่มีอยู่เดิม จึงพัฒนาความสามารถของหุ่นยนต์ BLISS ส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกให้เข้าใจสิ่งที่เด็กพูดและสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รู้จำเสียงพูดของมนุษย์ หรือ Speech Recognition และดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ "ระบบทำแบบจำลองคณิตศาสตร์อัตโนมัติสำหรับข้อมูลขนาดใหญ่" เป็นการพัฒนาโมเดลคอมพิวเตอร์ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ และการเข้าใจในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการจัดการระบบฐานข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากขององค์กร เช่น กลุ่มธนาคาร และกลุ่มโทรคมนาคม เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกนำมาวิเคราะห์หารูปแบบปรับปรุงเพื่อพัฒนาในการดำเนินงานขององค์กรให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น
สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2 ท่าน คือ ดร.นฤมล ตันติพิษณุ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ผลงานวิจัย "สถานภาพการกระจายของนากที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำในภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทย" "นาก" เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กระดับสูงสุดของระบบนิเวศป่าชายเลนซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง ข้อมูลจากการประชุมสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในประเทศไทยปี 2552 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีข้อมูลสถานภาพการกระจายของสัตว์กลุ่มนี้อยู่น้อยมากโดยเฉพาะทางภาคใต้และเป็นข้อมูลเมื่อหลายสิบปีก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสำรวจซ้ำเพื่อให้ได้ข้อมูลการกระจายที่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งทราบถึงภัยคุกคามต่างๆ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้มีความสำคัญต่อการวางแผนการจัดการด้านการอนุรักษ์ งานวิจัยนี้จะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพังงาและกระบี่ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจยังจะเป็นประโยชน์ต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางชีวภาพ เป็นแนวทางให้ ทช. พิจารณาในการประกาศพื้นที่อนุรักษ์และการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ (zoning) ในอนาคต และ ดร.เยาวลักษณ์ มะปราง รสหอม สายวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี งานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาบาซิลลัสซับทิลิสเป็นวัคซีนที่สามารถผลิตโปรตีน S1 ของไวรัสพีอีดีได้ทั้งในระยะเซลล์และสปอร์" งานวิจัยนี้มีแนวคิดที่จะพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคพีอีดี ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสพีอีดีที่ติดเชื้อในหมู โดยใช้บาซิลลัสซับทิลิส (Bacillus subtilis) เป็นระบบนำส่งวัคซีนผ่านระบบทางเดินอาหารเพื่อไปยังตำแหน่งลำไส้เล็ก ซึ่งวัคซีนที่ใช้ระบบบาซิลลัสซับทิลิสนี้สามารถให้กับหมูโดยการผสมกับอาหารแล้วให้ผ่านการกินทางปาก บาซิลลัสซับทิลิสจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อโปรตีน S1 ของไวรัสพีอีดี ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสพีอีดีที่จะเข้ามาในร่างกายของหมูในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ลดการใช้เข็ม และไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการให้วัคซีน บาซิลลัสซับทิลิสที่จะใช้เป็นวัคซีนนี้จะใช้ในรูปแบบของสปอร์ เพราะมีความทนกรด ทนร้อน ทำให้เก็บรักษาง่าย และไม่ถูกทำลายโดยน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาบาซิลลัสซับทิลิสสายผสมที่สามารถสร้างโปรตีน S1 ของไวรัสพีอีดีได้ทั้งในระยะสปอร์และเซลล์ด้วย เพื่อใช้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น
สาขาวัสดุศาสตร์ 2 ท่าน คือ ดร.สุภโชค ตันพิชัย สถาบันการเรียนรู้ โดยผลงานวิจัยเรื่อง "การเตรียมเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร" เป็นงานวิจัยโดยใช้ใบสับปะรดเป็นสารตั้งต้นในการเตรียมเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน ผ่านกระบวนการระเบิดด้วยไอน้ำแรงดันสูง เพื่อทำลายพันธะที่ยึดเกาะกันระหว่างเส้นใยเซลลูโลสระดับไมโคร จนได้เป็นเส้นใยขนาดนาโนที่มีการกระจายตัวแยกออกจากกัน ซึ่งมีความแข็งแรงสูง น้ำหนักเบา ความทนทานต่อสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ มีลักษณะโปร่งแสง ยากต่อการมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้หลากหลาย เช่น การปรับปรุงสมบัติบางประการของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้น โดยที่ยังคงความใสของฟิล์มไว้ได้ เช่น สมบัติเชิงกล สมบัติทางความร้อน หรือสมบัติการแพร่ผ่านของก๊าซ ใช้ทางด้านวัสดุทางการแพทย์ เช่น ผ้าปิดแผล หรือ หลอดเลือดเทียม หรือใช้ในงานทางด้านการกรองสารพิษจากน้ำ หรืออากาศอีกด้วย ทางด้าน ผศ.ดร.สนติพีร์ เอมมณี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์การเก็บเกี่ยวพลังงานไฟฟ้าโดยการใช้สปริงจานลามิเนตที่ประกอบด้วยวัสดุเพียโซอีเล็คทริก" การออกแบบอุปกรณ์เพื่อการเก็บเกี่ยวพลังงานไฟฟ้าจากการสั่นสะเทือน เช่น เครื่องจักร การเคลื่อนที่ของคน เป็นต้น ซึ่งเป็นพลังงานที่สูญเสียไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า จึงคิดค้นอุปกรณ์รูปแบบจานสปริงลามิเนต นำมาเจาะรูตรงกลาง ออกแบบให้สามารถยุบตัวได้มากกว่าปกติเมื่อเกิดความเคลื่อนไหว การที่จานสปริงมีการยุบตัวได้มาก ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้มาก จะเก็บพลังงานได้มากเมื่อมีแรงเข้าไปกระทบ และเกิดการสะสมพลังงานที่เกิดจากการเคลื่อนไหว หรือแรงสั่นสะเทือนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับวัตถุมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ได้
รวมทุนวิจัยที่ได้รับจำนวน 3 ล้านเยน หรือประมาณ 920,000 บาท เพื่อให้นักวิจัยไทยได้นำไปใช้ในการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นงานวิจัยที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศเป็นอย่างยิ่ง