หน้าฝนกับโรคไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue Hemorrhagic fever-DHF)

ข่าวทั่วไป Thursday June 15, 2000 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
โรคไข้เลือดออก หรือที่เรียกเต็มๆว่า โรคไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue Hemorrhagic fever-DHF) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่พบเมื่อ 45 ปีที่แล้ว โดยพบระบาดครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. 2497 และต่อมาระบาดที่ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2501 และหลังจากนั้นได้ระบาดไปยังประเทศต่างๆที่อยู่ในเขตุร้อนของทวีปเอเซีย โรคไข้เลือดออกเดงกีส่วนใหญ่เป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี และอาจมีความรุนแรง มีภาวะช็อกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้จึงมีความแตกต่างกับโรคแดงกี (Dengue fever-DF) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่รู้จักกันมานานกว่า 200 ปีว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และโดยทั่วไปจะไม่ทำให้ถึงเสียชีวิต แต่อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดกระดูกอย่างรุนแรง และโรคนี้มักพบในผู้ใหญ่
เด็กที่เป็นไข้เลือดออกเดงกีที่มีความรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อก เนื่องจากการรั่วของส่วนประกอบของเลือดที่เรียกว่า พลาสมา ออกไปนอกหลอดเลือด ทำให้อันตรายถึงเสียชีวิตอย่างรวดเร็วถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัย และดูแลรักษาอย่างถูกต้อง โรคนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและการตายในเด็ก
การแพร่กระจายของไวรัสเดงกี
เชื้อไวรัสเดงกีแพร่จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้โดยมียุงลายเป็นตัวนำที่สำคัญ โดยยุงลายตัวเมียจะดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในกระแสเลือด (ในช่วงที่มีไข้สูง) เข้าไป เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในตัวยุง โดยไวรัสจะเข้าไปสู่กระเพาะ และเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลผนังกระเพาะ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เตรียมพร้อมที่จะปล่อยเข้าสู่คนที่ถูกกัดครั้งต่อไปได้ตลอดอายุของยุงตัวเมีย ซึ่งอยู่ได้นานประมาณ 30-45 วัน เมื่อคนอื่นถูกกัด เชื้อจะเข้าไปแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในกระแสเลือด ทำให้เป็นโรค ยุงตัวเดียวที่มีเชื้อไวรัส สามารถกัดคนได้หลายคนทำให้โรคนี้เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในบริเวณที่มีชุมชนหนาแน่น
ยุงลายเป็นอย่างไร?
ยุงลายเป็นยุงที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก สีขาวสลับดำ พบอยู่ทั่วไปในประเทศเขตุร้อน แหล่งเพาะพันธ์ยุงคือภาชนะขังน้ำที่คนทำขึ้นและมีน้ำขังไว้เกิน 7 วัน โดยเป็นน้ำที่ใสและนิ่ง ยุงลายตัวเมียหลังดูดเลือดคนแล้ว จะวางไข่ในผิวด้านในของภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย อาศัยความชื้นจากความชื้นของน้ำที่ขังอยู่ในการอยู่รอด ไข่จะฟักตัวเป็นลูกน้ำในเวลา 2 วัน จากลูกน้ำเป็นตัวโม่งในเวลา 6-8 วัน จากตัวโม่งกินเวลา 1-2 วัน ก็จะเป็นยุงตัวเมียเต็มวัย พร้อมที่จะออกไปหาอาหารและผสมพันธุ์ โดยทั่วไปยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน ส่วนใหญ่จะพบอยู่ภายในบ้านและรอบๆบ้าน มีระยะบินไกลไม่เกิน 50 เมตร เราจะพบยุงลายชุกชุมมากในฤดูฝน ไข่ของยุงลายที่ติดอยู่กับขอบผิวด้านในของภาชนะ จะมีความทนต่อความแห้งแล้งได้เป็นเวลานานถึง 1 ปี เมื่อเข้าฤดูฝน มีความชื้นและอุณหภูมิที่พอเหมาะก็จะฟักตัวเป็นยุงได้ในเวลา 9-12 วัน
การติดเชื้อไวรัสเดงกี
การติดเชื้อไวรัสเดงกีในเด็ก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก เมื่อมีการติดเชื้อครั้งแรกมักจะไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง องค์การอนามัยโลก ได้จำแนกกลุ่มอาการโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ตามลักษณะอาการไว้ดังต่อไปนี้
กลุ่มอาการไวรัส (Undifferentiate fever) มักพบในทารก หรือเด็กเล็ก จะปรากฏเพียงอาการไข้ 2-3 วัน บางครั้งอาจมีผื่น ตุ่มแดง มีอาการคล้ายคลึงเหมือนกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ
ไข้เดงกี (Dengue Fever) มักเกิดกับเด็กโต หรือผู้ใหญ่ อาจมีอาการไม่รุนแรง คือมีเพียงอาการไข้ร่วมกับปวดศีรษะ เมื่อยตัว หรืออาจมีอาการรุนแรง คือไข้สูงกระทันหัน ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและมีผื่นขึ้น บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ รวมทั้งบางรายอาจมีเกล็ดเลือดต่ำได้ ในผู้ใหญ่ เมื่อหายจากโรคแล้วจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่นาน โดยทั่วไปแล้ว แพทย์อาจไม่สามารถวินิจฉัยจากอาการอย่างเดียวได้อย่างแน่นอน ต้องอาศัยอาการตรวจเลือดเพิ่มเติม
ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue Hemorrhagic Fever) เป็นอาการที่มีรูปแบบค่อนข้างชัดเจน คือมีไข้สูงลอยร่วมกับมีอาการเลือดออก ตับโต และมีภาวะช็อกในรายที่เป็นรุนแรง ในระยะที่มีไข้จะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และมีการรั่วของสารที่เป็นส่วนประกอบของเลือดที่เรียกว่า พลาสมา ออกจากหลอดเลือด ซึ่งถ้าพลาสมารั่วไปมากจะเกิดภาวะช็อก ขึ้นที่เรียกว่า Dengue Shoch Syndrome การรั่วออกของพลาสมาถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไข้เลือดออกเดงกี
อาการของโรคไข้เลือดออกเดงกี
หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อกและเสียชีวิตได้
โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลังดังนี้
ไข้สูงลอย 2-7 วัน มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง มีตับโต กดเจ็บ มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว/ภาวะช็อก
การดำเนินโรคของไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว
ระยะไข้ ทุกรายจะมีไข้สูงขึ้นอย่างฉับพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีอาการชักมาก่อน หรือในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน(ดูรายละเอียดเรื่องการปฏิบัติตน เรื่อง มีไข้แล้วชัก) ผู้ป่วยมักมีหน้าแดง อาจมีคอแดง แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรืออาการไอ ซึ่งจะใช้แยกจากโรคหัดในระยะแรก และโรคในระบบทางเดินหายใจได้ (ซึ่ง 2 โรคนี้มักมีอาการน้ำมูกไหล และไอ) ในเด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา
ในระยะไข้นี้ อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆไป และอาจปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต ส่วนใหญ่แล้ว ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน ประมาณร้อยละ 15 อาจมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน อาจพบผื่นแบบตุ่มแดง ผิวหนังแดง ซึ่งมีอาการคล้ายผื่นของหัดเยอรมันได้
อาการเลือดออกที่พบได้บ่อยที่สุด คือที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่ามีเส้นเลือดเปราะ แตกง่าย ทำให้มีจุดเลือดออกเล็กๆกระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักจะมีสีดำ อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่ จะพบร่วมกับภาวะช็อคที่เป็นอยู่นาน
ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
ระยะวิกฤต/ช็อก
เป็นระยะที่มีการรั่วไหลของพลาสมา ซึ่งจะพบทุกรายในผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี โดยระยะรั่วจะมีประมาณ 24-48 ชั่วโมง ประมาณ 1 ใน 3 ของไข้เลือดออกเดงกีจะมีอาการรุนแรง มีภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอดและช่องท้องมาก เกิดอาการช็อกจากปริมาณเลือดในหลอดเลือดต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกับเวลาที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือ เท้า เย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เด็กที่เป็นไข้เลือดออกที่อยู่ในภาวะช็อกส่วนใหญ่จะรู้สึกตัวดี หรือ มีภาวะรู้สติดี พูดรู้เรื่อง อาจบ่นกระหายน้ำ บางรายอาจมีอาการปวดท้องขึ้นอย่างกระทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง รอบปากเขียว ผิวมีสีม่วงๆ ตัวเย็นชืด วัดชีพจรและ / หรือ วัดความดันไม่ได้ ภาวะรู้สติเปลี่ยนไป และอาจจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังมีภาวะช็อก หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอาการช็อกอย่างทันท่วงที ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลง ผู้ป่วยอาจจะมีมือเท้าเย็นเล็กน้อย ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของชีพจร และความดันเลือด ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนเลือด เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไป แต่รั่วไม่มากจึงไม่ทำให้เกิดอาการช็อก เด็กเหล่านี้เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้นๆก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
ระยะฟื้นตัว
ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อก เมื่อไข้ลด ส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อก ถึงแม้จะมีความรุนแรง ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ชีพจรจะเต้นช้าลงและเต้นแรงขึ้นมาเป็นปกติ ความดันเลือดกลับมาเป็นปกติ จำนวนปัสสาวะจะออกมากขึ้น เด็กจะมีความอยากรับประทานอาหาร ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน เด็กจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ที่ผิวหนังอาจพบลักษณะเฉพาะ คือ มีวงกลมเล็กๆสีขาวตามปกติ ท่ามกลางผื่นสีแดง
ระยะทั้งหมดของไข้เลือดออกเดงกีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ประมาณ 7-10 วัน
การดูแลรักษา
เมื่อเด็กไม่สบาย และสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก ควรนำไปพบแพทย์ทุกครั้ง เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ไม่ควรสังเกตอาการ
ในระยะไข้สูง
บางรายอาจมีชักได้ ถ้ามีไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีประวัติ เคยชัก หรือในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน หากจำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวก พาราเซทตามอล ห้ามใช้ยาพวกเอสไพริน และ Ibuprofen เพราะอาจทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ และอาจระคายกระเพาะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น และที่สำคัญ อาจทำให้เกิดอาการทางสมอง ที่เรียกว่า กลุ่มอาการรายย์ (Reye syndrome) ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวในเวลาที่มีไข้สูงเท่านั้น เพื่อให้ไข้ที่สูงมากลดลงต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส การใช้ยาลดไข้มากเกินไป จะมีภาวะเป็นพิษต่อตับได้ ควรจะใช้การเช็ดตัวลดไข้ร่วมด้วย และมีข้อควรจำว่า ยาลดไข้ไม่สามาระทำให้ระยะไข้สั้นลงได้
จะต้องติดตามดูอาการเด็กอย่างใกล้ชิด นำไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อจะได้ตรวจพบ และป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา อาการช็อกมักเกิดขึ้นพร้อมกับไข้ลง ประมาณตั้งแต่วันที่ 3 ของการป่วยเป็นต้นไป ทั้งนี้แล้วแต่ระยะเวลาที่เป็นไข้ ถ้าเป็นไข้ 7 วัน ก็อาจจะช็อกในวันที่ 8 ได้ ผู้ปกครองควรทราบอาการนำของภาวะช็อก ซึ่งอาจจะมีอาการเบื่ออาหารมากขึ้น ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเลย หรือถ่ายปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดท้องอย่างมาก กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ผู้ปกครองควรนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการที่กล่าวมานี้
เมื่อนำเด็กไปตรวจที่สถานพยาบาล แพทย์จะตรวจเลือดดูปริมาณเกล็ดเลือด และความเข้มขั้นของเลือด ถ้าอาการเป็นไม่มากก็อาจจะนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเลือดเป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเลือดเริ่มลดลง และเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพลาสมาเริ่มรั่วออกจากเส้นเลือด และอาจช็อกได้ จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด
โดยทั่วไปแล้วเด็กที่เป็นไข้เลือดออกเดงกี ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่ยังมีไข้ สามารกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะให้ยาไปรับประทาน โดยผู้ปกครองต้องเฝ้าสังเกตอาการเด็กอย่างใกล้ชิด และพามาตรวจติดตามอาการและผลเลือดตามที่แพทย์นัด
ในรายที่ไข้ลด และมีระดับเลือดเข้มข้นขึ้น แต่ไม่มีอาการช็อก และเด็กที่ไม่สามารถดื่มน้ำเกลือได้ แพทย์จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด
สำหรับเด็กที่มีภาวะช็อก หรือ มีเลือดออก เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร(อาเจียนออกมาเป็นสีดำ) ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะถือเป็นเรื่องรีบด่วนและ แพทย์จะให้การรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยชีวิตเด็กและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ภาวะวิกฤตินี้จะผ่านไปในเวลา 24-36 ชั่วโมง และเข้าสู่ระยะฟื้นตัว เด็กจะหายดีโดยไม่มีความพิการ
มาตราการในการควบคุมยุงลาย
ยุงลายเป็นพาหะนำโรคของไข้เลือดออก ยุงลายบ้าน (มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า อีดีส อียิบไท (Aedes aegypti)) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ส่วนยุงลายสวน (มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า อีดีส อังโบพิตัส (Aedes albopictus)) เป็นพาหะที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ ในการแพร่กระจายของโรค ดังนั้นการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก จึงเน้นการกำจัดเฉพาะยุงลายบ้านเท่านั้น
เนื่องจากในวงจรชีวิตหนึ่งๆของยุงลาย ประกอบด้วย 4 ระยะ ที่มีความแตกต่างกัน ทางชีววิทยา และนิเวศวิทยา ทำให้วิธีการควบคุม และกำจัดยุงลายในแต่ละระยะแตกต่างกันดังนี้
ระยะไข่
ไข่ยุงลายมีขนาดเล็กมาก มีจำนวนมาก เนื่องจากยุงลายตัวเมียตัวหนึ่ง จะวางไข่ครั้งละประมาณ 100 ฟอง และจะวางที่เหนือระดับน้ำเล็กน้อย ในภาชนะขังน้ำที่มีน้ำนิ่งและใส ไข่ยุงลายนี้จะทนต่อความแห้งแล้ง และสารเคมี และมีอายุยืนยาวเป็นปี เมื่อไข่ได้รับความชื้น หรือมีน้ำมาท่วมไข่ ไข่ก็จะฟักออกมาเป็นลูกน้ำได้ในระยะเวลารวดเร็วตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่อัตราการฟักตัวของไข่จะลดน้อยลงตามระยะเวลาที่นานขึ้น การกำจัดระยะไข่อย่างง่ายๆ คือ การขัดล้างตามผิวภาชนะต่างๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์
ระยะลูกน้ำและตัวโม่ง
การควบคุมกำจัดระยะลูกน้ำและตัวโม่ง กระทำได้ง่ายและสะดวกที่สุด เนื่องจากลูกน้ำยุงลายและตัวโม่งอยู่ในภาชนะขังน้ำต่างๆ ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกบ้าน โดยจากการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ พบว่า ร้อยละ 64.52 เป็นภาชนะเก็บขังน้ำที่อยู่ภายในบ้าน และร้อยละ 35.53 เป็นภาชนะเก็บขังที่อยู่นอกบ้าน ภาชนะที่พบยุงลายมาก คือ โอ่งน้ำดื่มน้ำใช้ (พบร้อยละ 70.82) จานรองขาตู้กันมด (พบร้อยละ 15.68) ที่เหลือเป็นภาชนะอื่นๆ เช่น ไห ถังน้ำมัน แจกัน ยางรถยนต์เก่า จานรองกระถางต้นไม้ อ่างบัว อ่างล้างเท้า ภาชนะใส่น้ำเลี้ยวสัตว์ เศษภาชนะ เช่น โอ่งแตก เศษกระป๋อง กะลา ฯลฯ วิธีการลดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ได้แก่
ปกปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาอย่างมิดชิด ถ้าปิดไม่สนิท ยุงลายจะแทรกตัวไปวางไข่ได้ ควรปิดภาชนะด้วยผ้ามุ้ง ผ้ายาง หรือพลาสติกก่อนชั้นหนึ่ง แล้วจึงปิดฝาชั้นนอก
ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ เช่น บ่อซีเมนต์ในห้องน้ำ ให้ใส่ทรายอะเบท เพื่อกำจัดลูกน้ำ อัตราการใช้ทรายอะเบท 1 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร, 1 ppm (ทรายอะเบท 1 ซองเล็ก บรรจุ 20 กรัม) หรือ หมั่นขัดล้าง เปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 7 วัน หรือ เลี้ยงปลาหางนกยูง 2-10 ตัว (แล้วแต่ขนาดของบ่อ) เพื่อให้ช่วยกินลูกน้ำ
การใส่แบคทีเรียลงไปในภาชนะใส่น้ำใช้ คือ ใช้ แบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bacillus thuringiensis H-14 (BTI) โดยแบคทีเรียนี้จะทำให้เซลเยื่อบุทางเดินอาหารของลูกน้ำเป็นแผล และกระเพาะอาหารแตกภายใน 24 ชั่วโมง ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ใช้แบคทีเรียแบบเคลือบเม็ดทราย 1 เม็ด หนัก 1 กรัม เท่ากับ 500 ITU/มก. (International Toxic Unit) ต่อน้ำ 200 ลิตร (1 โอ่ง)
คว่ำภาชนะที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นการป้องกันไม่ให้มีรองรับน้ำและมีน้ำขัง
การเผา ฝัง ทำลาย หรือกลบทิ้งวัสดุที่อาจเก็บขังน้ำ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ เช่น ไหแตก กะละมะพร้าว ยางรถยนตร์เก่า กระป๋อง ขวด ฯลฯ
ใส่เกลือครึ่งช้อนชา หรือน้ำส้มสายชู 2 ช้อนชา หรือผงซักฟอกครึ่งช้อนชา ลงในจานรองขาตู้กันมด จะทำให้ยุงลายไม่วางไข่ (ต้องเปลี่ยนน้ำและใส่สารทุกเดือน) หรือ เทน้ำเดือดทุก 7 วัน เพื่อฆ่าลูกน้ำที่อาจเกิดขึ้น หรือใส่ชัน หรือขี้เท้าแทนการใส่น้ำ
จานรองกระถางต้นไม้ ให้ใส่ทรายธรรมดาลงไปประมาณ 3 ใน 4 ของความลึกของจาน เพื่อให้ทรายดูดซับน้ำส่วนเกินจากการรดน้ำต้นไม้
หมั้นเปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือภาชนะที่ปลูกพลูด่างทุก 7 วัน ต้องขัดล้างแจกันทุกครั้ง ที่เปลี่ยนน้ำด้วย อาจใช้กระดาษนิ่มๆอุดปากแจกันไว้
ระยะยุงเต็มวัย
โดยทั่วไปยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวัน แต่ถ้าในช่วงเวลากลางวันนั้นยุงลายไม่ได้กินเลือด หรือกินไม่อิ่ม ยุงลายก็อาจหากินเลือดในเวลาพลบค่ำ หากในบริเวณนั้น หรือห้องนั้นมีแสงสว่างเพียงพอ ช่วงเวลาที่พบยุงลายมากที่สุดมี 2 ช่วง คือในเวลาเช้า และในเวลาบ่ายถึงเย็น โดยบางรายงานระบุช่วงเวลาที่พบยุงลายออกหากินมากที่สุดคือ ระหว่าง 9.00-11.00 น.
แหล่งเกาะพักของยุงลาย ในบ้านเรือนพบว่ายุงตัวเมียร้อยละ 90 ชองเกาะพักตามสิ่งห้องแขวนต่างๆภายในบ้าน มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เกาะพักอยู่ตามข้างฝาบ้าน
การควบคุมกำจัดยุงเต็มวัย โดยใช้สารเคมี การใช้กับดัก และการป้องกันไม่ให้ยุงกัด
การใช้สารเคมี
-การพ่นละอองฝอย หรือการพ่นแบบ Ultra low volumn (ULV) เป็นการพ่นน้ำยาเคมีจากเครื่องพ่น โดยใช้แรงอัดอากาศผ่านรูพ่นกระจายน้ำยาออกมาแเป็นละอองฝอยที่มีขนาดเล็กมาก เครื่องพ่นน้ำยามีทั้งแบบสะพายหลัง และแบบติดตั้งบนรถยนต์
-การพ่นหมอกควัน (thermal fogging) เป็นการพ่นน้ำยาเคมีออกจากเครื่องพ่น โดยใช้อาการร้อน พ่นเป็นหมอกควันให้น้ำยาฟุ้งกระจายในอากาศ มีทั้งแบบหิ้ว แลแบบติดตั้งบนรถยนต์
การใช้สารเคมีควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น เช่น ใช้ในการตัดวงจรการแพร่โรคเมื่อเริ่มตรวจพบผู้ป่วย โดยจะต้องรีบไปทำการพ่นภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับรายงานผู้ป่วย จึงจะได้ผลในการควบคุมโรค
การใช้สารเคมี ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจเป็นพิษต่อคน หรือสัตว์เลี้ยงได้ ผู้ปฏิบัติงานด้านนี้ต้องมีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับสารเคมี และวิธีการใช้เครื่องพ่นให้ถูกเทคนิค การพ่น ต้องให้ละอองฝอย หรือหมอกควันเข้าไปสัมผัสตัวยุงภายในบ้านจึงจะได้ผล เนื่องจากยุงลายเกือบทั้งหมดจะอยู่ในบ้าน
การใช้กับดัก
เป็นการล่อยุงให้บินเข้ามาติดกับดัก เพื่อทำให้ตายต่อไป เช่น กับดักยุงแบบใช้แสงล่อ (Black light) กับดักยุงไฟฟ้าใช้แสงล่อยุงเข้ามา รูปแบบเดียวกันนี้ มีผลิตพันธุ์ออกมาเป็นคลายไม้ตีแบดมินตัน สามารถตีไปมา เมื่อยุงบินเข้ามากระทบถุกซี่กรงที่มีไฟฟ้าก็จะตายไป กับดักอีกชนิดคือ กับดักยุงแบบใช้คลื่นเสียง
การป้องกันไม่ให้ยุงกัด
นอนในมุ้ง ใช้มุ้งธรรมดา หรือมุ้งชุบสารเคมี ถ้านอนในห้องที่มีมุ้งลวด ต้องแน่ใจว่า ไม่มียุงลายเล็ดลอดเข้าไปอาศัยอยู่
ใช้ทายากันยุง มีทั้งชนิดผง น้ำ และครีม ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้ หรือการใช้เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากแผ่นกระดาษชุบสารเคมีไล่ยุงนั้น อาจเป็นอันตรายต่อเด็กอ่อนและทารกได้ และอาจก่อให้เกิดระคายเคือง เมื่อสัมผัสถูกผิวหนัง
ในระยะยาว ต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ไม่ให้เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลาย เช่น การจัดบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาด ให้มีอาการถ่ายเทสะดวก ไม่มืดทึบและอับชื้น รางระบายน้ำบนหลังคาไม่อุดตัน ปรังปรุงระบบสาธารณูประโภคให้เหมาะสม เช่น จดให้มีระบบน้ำประปาที่ดี เพื่อเป็นการลดการเก็บน้ำในภาชนะไว้ในบ้าน การกำจัดขยะที่อยู่นอกบ้าน
โดยสรุป การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกจะได้ผลดี ต้องผสมผสานหลายๆวิธีเข้าด้วยกัน ดังได้กล่าวข้างต้น และความร่วมมือของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการควบคุมโรคไข้เลือดออก--จบ--
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ