กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กฟน.
1 สิงหาคม 2543 ก้าวสู่ปีที่ 43 อย่างมั่นใจ ด้วยบริการซึ่งเป็นที่ยอมรับจากประชาชน ในความมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และ ปลอดภัย ภายใต้มาตรฐาน ISO 9002 วันนี้ การไฟฟ้านครหลวง ยังคงมุ่งมั่น พัฒนา ก้าวไกล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนตลอดไป
ประวัติความเป็นมา
การไฟฟ้านครหลวง เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัด กระทรวงมหาดไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2501ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พุทธศักราช 2501 โดยมีการรวม การไฟฟ้ากรุงเทพ (วัดเลียบ ) เข้ากับ กองไฟฟ้าหลวงสามเสน สังกัดกรมโยธาเทศบาลเป็นองค์กรเดียวกัน เรียกชื่อว่า การไฟฟ้านครหลวง ทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเขตนครหลวงควบคู่กัน จนกระทั่ง พ.ศ.2504 จึงได้โอนโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ให้ การไฟฟ้ายันฮี(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) รับไปดำเนินการ การไฟฟ้าครหลวงดำเนินการด้านจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เพียงอย่างเดียวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวงมีภาระหน้าที่ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ กรุงเทพมหานคร ,นนทบุรี และสมุทรปราการ คลอบคลุมพื้นที่ 3,192 ตารางกิโลเมตร มีการไฟฟ้านครหลวง 14 เขต และ13 สาขาให้บริการ ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวน 2,127,751 ราย
การปรับปรุงประสิทธิภาพงานบริการ
ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า (Call Center)
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ เพิ่มขึ้น การไฟฟ้านครหลวง ได้จัดตั้ง ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า (Call Center ) หมายเลขโทรศัพท์ 1130 เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ในการสอบถามข้อมูลด้าน ไฟฟ้าในเรื่องต่างๆรวมถึงแจ้งเรื่องไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้ เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน กับการไฟฟ้านครหลวงเขตทั้ง 14 แห่ง นอกจากนี้
ผู้ใช้บริการยังสามารถเลือกใช้ทั้งระบบอัตโนมัติหรือติดต่อกับพนักงาน โดยตรง รวมถึงสามารถรับข้อมูลทางโทรสาร ทำให้ได้รับความสะดวก โดยในขณะนี้มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการถึงเดือนละ 4 หมื่นราย
ศูนย์บริการติดตั้งระบบไฟฟ้า
เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและลดขั้นตอนในการเดินทางไปที่ การไฟฟ้านครหลวงเขตหรือสาขาการไฟฟ้านครหลวง ได้เปิดให้บริการศูนย์บริการติดตั้งระบบไฟฟ้า ขึ้น 4 มุมเมือง โดยอำนวยความสะดวกแก่ ผู้ใช้บริการถึงที่พักอาศัยในเรื่อง การขอใช้ไฟฟ้าใหม่ ขอไฟเพิ่ม, ออกแบบและเดินสายไฟฟ้าภายใน , ติดตั้งและบำรุงรักษาระบบปรับอากาศ ด้วยมาตรฐาน ISO9002 ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับความสะดวก มีความปลอดภัย ในการใช้บริการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้า นครหลวงดำเนินการเองรวมถึง ผลงานและอุปกรณ์ ได้มาตรฐานในราคาที่เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังสามารถประมาณค่าใช้จ่ายให้ทราบล่วงหน้าและกำหนดวันดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับความสะดวกในการให้บริการ
ศูนย์บริการติดตั้งระบบไฟฟ้า ถือว่าเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภคแห่งแรกที่ให้บริการถึงที่พักอาศัย โดยในระยะแรกเปิดให้บริการจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บางเขน ,บางพลี ,บางใหญ่ และดาวคะนอง ผู้ใช้บริการเพียงโทรศัพท์แจ้งความจำนงมาที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1130 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ติดต่อโดยตรงที่ศูนย์บริการติดตั้งระบบไฟฟ้า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับและดำเนิน การอย่างรวดเร็ว
มาตรฐานงานบริการ
การไฟฟ้านครหลวง ได้ประกาศใช้มาตรฐานงานบริการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543 ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับการบริการที่ดีและรวดเร็วขึ้นรวมถึง คุณภาพของความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า โดยได้กำหนดมาตราฐานไว้ 3 ด้านได้แก่ มาตราฐานด้านเทคนิค ,มาตรฐานการให้บริการทั่วไป และมาตรฐานการให้บริการรับประกันกับผู้ใช้ไฟฟ้า การกำหนดมาตราฐานงานบริการครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในหน่วยงานสาธารณูปโภคของรัฐ ซึ่งเป็นตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และยังเป็นการรับประกันด้วยว่าหากผู้ใช้ไฟฟ้าปฎิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขแล้ว หาก การไฟฟ้านครหลวงไม่สามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะต้องจ่ายค่าปรับกับผู้ใช้ไฟฟ้าตามเงื่อนไขที่ตกลงลงไว้
เตรียมพร้อมรับมาตรฐาน ISO 9002
การไฟฟ้านครหลวงได้เร่งรัดพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทั้งด้านการบริหาร การจัดการและการให้บริการลูกค้า ระดับสากล ISO 9002 โดยเน้นที่ งานบริการประชาชนได้แก่ งานบริการผู้ใช้ไฟฟ้า งานรับชำระค่าไฟฟ้า งานด้านระบบจำหน่ายและงานแก้ไขไฟฟ้าขัดข้อง ซึ่งถือเป็นการขอใบรับ รองพร้อมกันทุกการไฟฟ้านครหลวงเขต ทั้ง 14 เขตและสาขาอีก 13 สาขา เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการเท่าเทียมกัน ที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพมีมาตราฐานเทียบเท่าสากล
Reengineering
นอกเหนือจากการปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้รับมาตรฐาน ISO9002แล้ว การไฟฟ้านครหลวง ยังได้โดยศึกษาถึงเรื่อง การจัดกระบวนงานและการพัฒน การไฟฟ้านครหลวง(Business Process Reengineering) เพื่อปรับกระบวนงานด้านต่าง ๆ ของ กฟน.ให้มีความกระทัดรัด คล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการประกอบธุรกิจเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต
การพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้า
เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าเป็นชนิดมีชนวนหุ้ม
เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น การไฟฟ้านครหลวง ได้ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ดำเนินการปรับเปลี่ยนสายไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
เพื่อลดปัญหาไฟฟ้าดับ โดยทำการเปลี่ยนสายไฟฟ้าเป็นชนิดที่มีฉนวนหุ้ม Spaced Aerial Cable ชนิด XLPE หนา 2 ชั้นแทนของเดิมที่เป็น สายเปลือยไม่มีฉนวนหุ้ม ทำให้สามารถทนทานต่อวัสดุแปลกปลอมที่มากระทบสายไฟฟ้าในขณะที่เกิดลมพายุรุนแรงได้เป็นอย่างดี รวมถึงให้ ความปลอดภัยในการก่อสร้างใกล้แนวสายไฟฟ้าได้มากขึ้นซึ่งหลังจากที่ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จเป็นบางส่วนผลปรากฎว่าอัตราไฟฟ้าดับมีสถิติลดลง โดยโครงการดังกล่าวนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จหมดทุกพื้นที่ประมาณ กลางปี 2544
ระบบแผนที่และข้อสนเทศระบบจำหน่ายไฟฟ้า
การไฟฟ้านครหลวงได้นำระบบ GIS/AM/FM ( Geographic Information System/ Automate Mapping Application / Facilities Management Application ) เข้ามาใช้ในการผลิตแผนที่และข้อสนเทศจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความถูกต้อง ทันสมัยมีประสิทธิภาพเพื่อวางแผนออกแบบก่อสร้างและบำรุงรักษา ตลอดจนนำมาใช้ในการบริการผู้ใช้ไฟฟ้า ณ ที่การไฟฟ้านครหลวงเขต และสาขา รวมถึงศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า (Call Center ) ทำให้ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานให้สะดวกและรวดเร็วขึ้นซึ่งที่ผ่านมาการประปานครหลวง และ กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในข้อตกลงในการใช้แผนที่ฐานเชิงรหัสขนาดมาตราส่วน 1:1000 คลอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในขณะที่ รัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภคและหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ให้ความสนใจในการขอใช้ข้อมูลนี้เช่นกัน
เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า
เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้านทิศตะวันออกและเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการให้ดีขึ้น
การไฟฟ้านครหลวงได้ก่อสร้างและเปิดใช้งานสถานีต้นทางเทพารักษโดยจ่าย ไฟฟ้าด้วยระบบแรงดัน 115 และ 69 กิโลโวลต์ ซึ่งแต่ละระบบสามารถรับภาระได้ถึง 600 MVA. ทำให้ขีดความสามารถในการจ่ายไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นสามารถรองรับความต้องการของประชาชนและ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว
นำระบบ Das (Distribution Automation System )เข้ามาพัฒนาในการจ่ายระบบไฟฟ้า
เพื่อเป็นการควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธภาพและช่วยลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาการขัดข้องระบบจำหน่าย การไฟฟ้านครหลวงได้นำระบบ Das (Distribution Automation System )เข้ามาใช้ ระบบดังกล่าวมีขีดความสามารถ ในการตรวจจับการเกิดและบริเวณที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งมีการใช้อุปกรณ์ระยะไกล(RTU)เข้าควบคุม ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับได้อย่างรวดเร็ว
การพัฒนาระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า
การไฟฟ้านครหลวง ได้นำระบบ Scada (Supervisory Control and Data Acquisition) เข้ามาใช้ในการพัฒนาระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็น ไปอย่าางมีประสิทธิภาพพร้อมระบบการจัดการพลังไฟฟ้า EMS ( Energy Manngement System)เป็น ระบบงานที่การไฟฟ้านครหลวง ใช้งานในปัจจุบัน โดยมีการพัฒนาออกแบบ ตลอดจน พัฒนาเพื่อใช้งานจัด การระบบส่งพลังไฟฟ้าสถานีไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงให้มี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กิจกรรมเพื่อสังคม
ร้อยดวงใจภักดี ร้อยปีสมเด็จย่า
เพื่อเป็นการสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนี และเนื่องในงานเฉลิมฉลอง 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ การไฟฟ้านครหลวงได้จัดโครงการ " กฟน.ร้อยดวงใจภักดี สมเด็จย่า " โดยมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่อสังคม ในด้านสุขอนามัยและการศึกษาของเยาวชน ประกอบด้วย การจัดซื้อรถเข็นผู้ป่วย จำนวน 75 คัน มอบให้โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 75 แห่ง ,จัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับห้องกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ให้โรงเรียนศรีสังวลาย์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระบรมราชูปถัมน์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สนันสนุนค่าก่อสร้างอาคารเรียนจำนวน 6 ห้อง พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนศรีสมวงศ์ จังหวัดเชียงราย , มอบเงินสนับสนุนงานบริการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ของสมาคมศิษย์เก่า ศิริราชพยาบาล
โครงการตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียง โดยเน้นให้ แต่ละคน มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย มีความสุขมี self-sufficiency หมายถึงผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง และขยายผลให้ชุมชนแต่ละชุมชน สามารถพึ่งพาตนเอง ลดความช่วยเหลือจากภายนอก
การไฟฟ้านครหลวงได้นำพระราชดำริดังกล่าว เป็นแนวทาง ในการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยจัดสรรงบประมาณ จำนวน 2 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนการศึกษาและค่าใช้จ่าย จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เด็กหรือเยาวชนมีโอกาสได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกวิธี มีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่น ขณะเดียวกัน งบประมาณอีก 1 ล้านบาท ได้นำไปจัดอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกในชุมชนแออัด เกี่ยวกับการดูแล ตรวจสอบ แก้ไขไฟฟ้าเบื้องต้น ตลอดจนการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นอย่างถูกวิธีด้วยตนเองได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เสริมรายได้ นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวง ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ออกให้บริการ ตรวจสอบ แนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ตลอดจน
ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้กับชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม เช่น ลานกีฬาต้านยาเสพติด ศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์ประชุมของชุมชน มัสยิด ฯลฯ
โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ
การไฟฟ้านครหลวงได้ดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษาตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่กิ่งอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 1,000 ไร่ และในพื้นที่สถานีวิจัยสะแกราช จังหวัดนคราชสีมา จำนวน 300 ไร่
ไฟฟ้าสาธารณะ
การไฟฟ้านครหลวงได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นประจำ ทุกปีเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะตามถนน ตรอกและซอยต่างๆในกรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และสมุทรปราการ ตลอดจนติดตั้งไฟฟ้าให้กับศาลา ที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ลานกีฬา ต้านยาเสพติด
การไฟฟ้านครหลวง ได้ร่วมสนับสนุนให้เยาวชนไทย ห่างไกลยาเสพติด โดยการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะให้กับลานกีฬาของชุมชนแออัด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังเป็นผู้รับผิดชอบค่าไฟฟ้าแสงสว่างที่เกิดขึ้นทั้งหมด--จบ--
-อน-