กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--มรภ.สงขลา
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา จัดกิจกรรมเปิดฟ้าตามหาดาว ครั้งที่ 2 ชวนผู้สนใจพาแม่ดูฝนดาวตกเฟอร์เซอิดส์ ริมหาดสมิหลา วันที่ 12 สิงหานี้ คาดมีอัตราการตกสูงสุดราว 100 ดวงต่อชั่วโมง
นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา เปิดเผยถึงกิจกรรมเปิดฟ้าตามหาดาว"ชวนแม่ชมฝนดาวตกเฟอร์เซอิดส์" หรือ ฝนดาวตกวันแม่ วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2560 เวลา 17.00-24.00 น. ณ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา ว่า ตามที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านดาราศาสตร์ของประเทศ เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ โดยเฉพาะการทำกิจกรรมเพื่อบริการความรู้ เป็นแหล่งช่วยเผยแพร่ความรู้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวในระดับโรงเรียนและท้องถิ่น จึงได้จัดกิจกรรมด้านดาราศาสตร์ขึ้น ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายความรู้ดาราศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของ สดร. รวมถึงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แก่ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ใกล้เคียง
นายเฉลิมชนม์ กล่าวว่า ในการนี้ หอดูดาวฯ สงขลา จึงมีการจัดกิจกรรมเปิดฟ้าตามหาดาว ในคืนวันที่ 12 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม ให้แก่ผู้สนใจได้เข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้บริการเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์แก่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษารวมทั้งประชาชนทั่วไปให้มีความสนใจในกิจกรรมทางดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหอดูดาวฯ สงขลา ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ซึ่งฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 25 ปีก่อน เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า
"ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม-24 สิงหาคมของทุกปี โดยช่วงประมาณวันที่ 12-13 สิงหาคม จะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า แต่เนื่องจากในวันดังกล่าวมีแสงจันทร์รบกวน ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนอาจทำให้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้อต่อการสังเกตการณ์ฝนดาวตกมากนัก" ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา กล่าว