กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
อ็อกซ์ฟอร์ด บิสซิเนส กรุ๊ป (Oxford Business Group หรือ โอบีจี) บริษัทที่ปรึกษา วิจัย และตีพิมพ์รายงานการวิจัยระดับโลก เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่มุ่งศึกษารายละเอียดของแผนการผลักดันองค์กรขนาดเล็กให้เป็นหัวใจหลักในกลยุทธ์สู่การเติบโตและการส่งเสริมการลงทุนในบางภาคธุรกิจของประเทศไทย
รายงานของโอบีจีที่มีชื่อ The Report: Thailand 2017 ฉายภาพกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 ของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่า การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล การสร้างนวัตกรรมทางการเกษตร และการขยายภาคการบริการที่นำโดยการท่องเที่ยว
โอบีจี ระบุถึงพัฒนาการของประเทศไทยในความพยายามกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า ด้วยการทำข้อตกลงที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก นอกจากนี้ยังวิเคราะห์หัวข้ออื่นๆ ทั้งความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสร้างศูนย์กลางทางการเงินระดับภูมิภาค และการขยายการซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ท่ามกลางความคาดหมายของการนำเสนอขายหุ้นสู่สาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ) และความหลากหลายของหลักทรัพย์ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น
รายงานของโอบีจียังให้ความสำคัญกับภาคเทคโนโลยีของประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมถึงผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากการเปิดเครือข่ายสัญญาณ 4G และสินทรัพย์โทรศัพท์พื้นฐานที่มีต่อเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้นท่ามกลางการดำเนินการขององค์กรธุรกิจที่มุ่งตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค
รายงาน The Report: Thailand 2017 มีบทความของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงแนวทางโดยละเอียดสำหรับนักลงทุนในแต่ละภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ของบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่างฮิโรชิเกะ เซโกะ (Hiroshige Seko) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ลิม ฮึง เคียง (Lim Hng Kiang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ กลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ ปตท.
โอลิเวอร์ คอร์น็อค หัวหน้าทีมบรรณาธิการของโอบีจีให้ความเห็นหลังการเปิดตัวรายงานดังกล่าวว่า รายงานของกลุ่มโอบีจีเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะสร้างการเติบโตรูปแบบใหม่ที่เป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนและเติบโตอย่างมีส่วนร่วม
"หลังเสร็จสิ้นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว มีสัญญาณที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว แม้กระทั่งอาจมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต" คอร์น็อคกล่าว "รายงานของเราบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับการเติบโตสู่อนาคตในระยะยาวและมีความหวังที่สดใสในระยะสั้นด้วยเช่นกัน"
พอลเลียส คุนซินาส บรรณาธิการบริหารของโอบีจี ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้เริ่มต้นเดินหน้าสู่การดำเนินการผลิตในระดับที่สูงขึ้น พร้อมกับมีเทคโนโลยีใหม่มากมายเกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ
"การสนับสนุนในรูปแบบของเงินกู้ภาครัฐและการมีวิสัยทัศน์โดยละเอียดในการพัฒนาเศรษฐกิจจะได้รับการยอมรับจากนักลงทุนที่เล็งเห็นถึงโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่ในภาคธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของประเทศไทยอย่างการท่องเที่ยว พร้อมกับกระตุ้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ" คุนซินาส กล่าว "ด้วยการผลักดันผ่านแนวคิดริเริ่มใหม่ของรัฐบาลที่เข้มแข็งมากขึ้น จึงมีเหตุผลมากมายที่จะเชื่อได้ว่าความมุ่งมั่นของประเทศจะช่วยขับเคลื่อนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้สูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านบวก"
รายงาน The Report: Thailand 2017 เกิดขึ้นจากการรวบรวมผลวิจัยภาคสนามเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนโดยทีมนักวิเคราะห์ของอ็อกซ์ฟอร์ด บิสซิเนส กรุ๊ป รายงานฉบับนี้ประเมินแนวโน้มและการพัฒนาทั่วประเทศ ทั้งเศรษฐศาสตร์ระดับมหภาค โครงสร้างพื้นฐาน การธนาคาร และอื่นๆ รายงาน The Report: Thailand 2017 เปิดให้บุคคลทั่วไปรับชมในรูปแบบสิ่งพิมพ์และทางออนไลน์
คณะทำงานใหม่สำหรับรายงานปี 2561
โอบีจียังประกาศคณะทำงานที่จะดูแลรับผิดชอบรายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทยในฉบับต่อไป
ลูอีส แกรงค์วิสต์ รับตำแหน่งผู้อำนวยการประจำประเทศไทย ขณะที่เรย์ เดวิส-ทูพลาโนจะเป็นผู้จัดการประจำกองบรรณาธิการสำหรับรายงาน The Report: Thailand 2018 ของโอบีจี
แกรงค์วิสต์ไม่ใช่บุคคลหน้าใหม่ในตลาดที่มีความเคลื่อนไหวสูง เธอย้ายจากบาห์เรนมาประจำในประเทศไทยซึ่งเธอมีหน้าที่จับตามองโอกาสการลงทุนในเศรษฐกิจที่ถอยห่างจากภาคธุรกิจแบบดั้งเดิม แกรงค์วิสต์ซึ่งเป็นชาวสวีเดนโดยกำเนิดมีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำรายงานของโอบีจีในอ่าวของภูมิภาค
อาชีพการงานของทูพลาโนพาให้เขาเดินทางไปทั่วตลาดที่มีความเคลื่อนไหวสูงมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในช่วงที่การบูรณาการระดับภูมิภาคคือหนึ่งในหัวข้อที่มีความสำคัญ ก่อนที่จะรับตำแหน่งนี้ ทูพลาโนซึ่งเป็นลูกครึ่งฟิลิปปินส์-เบลเยี่ยมแบ่งเวลาระหว่างการทำงานกับทีมบรรณาธิการในประเทศไทย เมียนมาร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย